สมโภชน์ -อมร ประกาศลาออกจากตำแหน่งบริหารในบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ เปิดทางให้รัฐตรวจสอบกรณีข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตอย่างเต็มที่

283
- Advertisment-

สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการและผู้บริหารเพื่อความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้เกิดการตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ มั่นใจในความบริสุทธิ์ พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนกรณีเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่นครสวรรค์และลำปาง

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน( Energy  News  Center -ENC ) รายงานว่า ในช่วงค่ำของวันที่ 14 กรกฏาคม 2567 นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อกรณีที่ถูกทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษว่ากระทำทุจริต โดย ทั้งนายสมโภชน์ และนายอมร ได้ประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการและผู้บริหารเพื่อความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนกรณีเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่นครสวรรค์และลำปาง

ในแถลงการณ์ระบุว่าทั้งนายสมโภชน์ และนายอมร ได้ แสดงความความมั่นใจในความบริสุทธิ์และยืนยันว่าไม่ได้ร่วมกันทำทุจริต เพราะกระบวนการในการจัดจ้างผู้รับเหมาเป็นการคัดเลือกผ่านมติคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นการรับเหมาแบบทั้งโครงการ (Turn Key) มีการทำสัญญาก่อสร้างแบบ Engineering Procurement and Construction  Contract (EPC) โดยผู้รับเหมาเป็นผู้ออกแบบ จัดซื้อ ก่อสร้างและติดตั้งระบบงานต่างๆของโครงการทั้งหมด การจัดซื้ออุปกรณ์เป็นหน้าที่และเป็นอำนาจการตัดสินใจของผู้รับเหมาไม่ได้เป็นการตัดสินใจของบริษัท นายสมโภชน์ หรือ นายอมร โดยผู้รับเหมาจะได้รับรายละเอียดของโครงการรวมทั้งรายการอุปกรณ์ที่ต้องไปจัดหา โดยกำหนดยี่ห้อของแต่ละอุปกรณ์มากกว่า 1 ยี่ห้อ แล้วให้ผู้รับเหมาไปตัดสินใจเลือกซื้อเอง

- Advertisment -

ทั้งนี้การกำหนด specification ของอุปกรณ์หลักต้องได้รับการอนุมัติโดยที่ปรึกษาด้านเทคนิคของโครงการที่แต่งตั้งโดยสถาบันการเงินซึ่งเป็นที่ปรึกษาระดับโลกที่มีความเป็นอิสระไม่สามารถชี้นำหรือควบคุมได้ โดยที่ปรึกษาด้านเทคนิคของโครงการยังได้ให้ความเห็นว่าค่าก่อสร้างของโครงการเหมาะสมเมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆในช่วงเวลานั้น อย่างที่เห็นประจักษ์แล้วว่า ต้นทุนการก่อสร้างโครงการบริษัทเมื่อเปรียบเทียบกับค่าก่อสร้างของโครงการลักษณะคล้ายกันของบริษัทอื่นๆที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาเดียวกันโครงการของอีเอก็มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดและมีประสิทธิภาพในการทำกำไรสูงสุด จนทำให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) สูงสุด

อย่างไรก็ตาม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษมานั้นเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฏหมาย ยังไม่ได้ถือว่าขณะนี้นายสมโภชน์และนายอมรเป็นบุคคลผู้กระทำผิด และพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อพิสูจน์ความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อไป

Advertisment