สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ งานฉลองครบรอบ “145 ปี บี.กริม” พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการทรงคุณค่าประวัติศาสตร์ขององค์กรหกแผ่นดินยึดมั่นการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อประชาสังคม

320
- Advertisment-

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานงานเฉลิมฉลองครบรอบการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยปีที่ 145 ของ บี.กริม องค์กรที่อยู่เคียงคู่สังคมไทย จากรากฐานปรัชญาการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ภายใต้ชื่อ “บี.กริม 145 ปี แห่งการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี รับใช้และเติบโตเคียงข้างกับประเทศไทย” พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการ “145 ปี บี.กริม” ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อช่วงค่ำวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 โดยมี มร.ฮาราลด์ ลิงค์ และคณะผู้บริหาร บี.กริม ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ

นิทรรศการ “145 ปี บี.กริม” ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ บี.กริม องค์กรหกแผ่นดินที่ยึดมั่นการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อประชาสังคม โดยพาทุกคนย้อนอดีตไปในปี พ.ศ.2421 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางมายังประเทศไทย ของเภสัชกรชาวเยอรมัน แบร์นฮาร์ด กริม และหุ้นส่วนชาวออสเตรีย แอร์วิน มุลเลอร์ เพื่อก่อตั้งห้างจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ขึ้นที่ซอยโรงแรมโอเรียนเต็ล ถนนเจริญกรุง ในชื่อ “สยามดิสเป็นซารี่” ซึ่งเป็นร้านปรุงยาตำรับตะวันตกแห่งแรกในสยาม และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นร้านยาหลวงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงเวลาเดียวกัน บี.กริม ได้ร่วมมือกับตระกูลสนิทวงศ์ในการขุดคลองรังสิต ความยาว 1,500 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นโครงการชลประทานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ขณะนั้น

- Advertisment -

บี.กริม เติบโตและขยายกิจการอันหลากหลาย ทั้งเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่การจากไปของเภสัชกรแบร์นฮาร์ด กริม เหตุการณ์ทางการเมือง รวมถึงการเปลี่ยนมือของหุ้นส่วน และผลกระทบจากสงคราม  แต่ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ใด บี.กริม ก็ยังคงยึดมั่นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ ด้วยความโอบอ้อมอารี รับใช้และเติบโตเคียงข้างกับประเทศไทยจวบจนถึงปัจจุบัน

มร.ฮาราลด์ ลิงค์ ทายาทตระกูลลิงค์รุ่นที่ 3

บี.กริม ภายใต้การบริหารของ มร.ฮาราลด์ ลิงค์ ทายาทตระกูลลิงค์รุ่นที่ 3  ยังคงสืบทอดแนวคิดการทำงานจากบรรพบุรุษ ด้วยปรัชญา “การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี” ทุกวันนี้ บี.กริม ที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยมา 145  ปีแล้ว  ได้แบ่งสายงานธุรกิจหลักไว้ 6 กลุ่ม  ได้แก่ ธุรกิจด้านพลังงาน ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้า, ธุรกิจอุตสาหกรรม ให้บริการโซลูชันในการจัดการพลังงานและเชื่อมต่อระบบภายในอาคารและภาคอุตสาหกรรม (กลุ่มผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและโซลูชันสำหรับอาคาร กลุ่มระบบทำความเย็น เครื่องปรับอากาศ กลุ่มอุปกรณ์พลังงาน และกลุ่มคมนาคม), ธุรกิจสุขภาพ จัดหาเวชภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และบริการทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง, ธุรกิจเทคโนโลยีดิจิตอล นำเสนอเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการพัฒนาสินค้าและการบริการในตลาด, ธุรกิจไลฟ์สไตล์  เป็นตัวแทนสินค้าแฟชั่นหลายกลุ่ม และ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ภายในงาน มีการจัดนิทรรศการ “145 ปี บี.กริม” รายล้อมรอบบริเวณพระปรางค์วัดอรุณ บอกเล่าประวัติความเป็นมา ร้อยเรียงเรื่องราวของ บี.กริม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน อีกทั้งยังมีซุ้มนำเสนออาหารประจำแต่ละรัชสมัย เช่น สมัยรัชกาลที่ 5 นำเสนอเมนูอาหารเลิศรส อาทิ หมี่กรอบ, ฝอยทอง, ข้าวขวัญ และเมนูกระเช้าสีดา สมัยรัชกาลที่ 6  นำเสนอเมนู ข้าวตังหน้าตั้ง และมะกรูดแช่อิ่ม สมัยรัชกาลที่ 7 นำเสนอเมนูก๋วยเตี๋ยวผัดไทย, ดาราทอง ส่วนสมัยรัชกาลที่ 8 ประกอบด้วยเมนู นกกระจาบแตกรัง (ดอกแคสอดไส้หมูสับปรุงรส), ขนมนึ่ง สมัยรัชกาลที่ 9 นำเสนอเมนูที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรด อาทิ ไข่พระอาทิตย์, กล้วยหักมุกเชื่อม, ส้มตำไทย ส้มตำลาว และ เมนูไข่ สมัยรัชกาลที่ 10 ประกอบด้วยเมนูยอดนิยมของประเทศไทย อย่าง ข้าวเหนียวมะม่วง, ปลากุเลาแดดเดียว (ทอด ยำ ต้มส้ม) และ ต้มข่าไก่ เป็นต้น

 

นอกจากความวิจิตรงดงามของสถานที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารแล้ว ภายในงานยังมีการแสดงโขน “เรื่องรามเกียรติ์” ตอนศึกแสงอาทิตย์ โดยคุณพิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินไทยร่วมสมัย แสดงควบคู่กับเพลงคลาสสิกร่วมสมัย ซึ่งประพันธ์โดย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ศิลปินแห่งชาติ และบรรเลงโดยวง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) ควบคุมวงดนตรีโดยวาทยกรชื่อดัง ดร.วานิช โปตะวนิช  โดยการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกแสงอาทิตย์ เป็นการแสดงโดยคณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ที่บอกเล่าเรื่องราวของ แสงอาทิตย์ ยักษ์ที่มีอาวุธวิเศษเป็นแว่นแก้วสุรกานต์ ส่องถูกผู้ใดผู้นั้นจะต้องตาย ทศกัณฐ์ออกคำสั่งให้แสงอาทิตย์ยกทัพไปรบกับพระรามพร้อมกับจิตรไพรีผู้เป็นพี่เลี้ยง พิเภกรู้ว่าแว่นแก้วสุรกานต์นั้นเก็บอยู่ที่พระพรหม จึงทูลพระรามว่า เมื่อแสงอาทิตย์มารบก็จะให้จิตรไพรีขึ้นไปเอาแว่นมาใช้  พระรามจึงได้สั่งให้องคตแปลงกายเป็นจิตรไพรีไปเอาแว่นมาเก็บไว้ก่อน เมื่อแสงอาทิตย์รบกับพระราม จนเพลี่ยงพล้ำและคิดว่าอาวุธทั้งหลายคงใช้ไม่ได้ จึงสั่งให้จิตรไพรีขึ้นไปเอาแว่นวิเศษจากพระพรหม แต่เมื่อจิตไพรีไปพบพระพรหมเพื่อขอแว่นแก้วสุรกานต์ก็พบว่าถูกพระรามใช้อุบายหลอกเอาแว่นไปเสียแล้ว  แสงอาทิตย์จึงรู้ว่าเสียทีแก่ศัตรูแล้ว และในที่สุดแสงอาทิตย์ก็ต้องศรพรหมาสตร์ของพระรามจนถึงแก่ความตาย

 “145 ปี บี.กริม” ครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนการถ่ายทอดประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า และเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษในฐานะที่ บี.กริมได้ร่วมทำกิจการรับใช้ประเทศเสมอมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 145 ปี 

ส่วนหนึ่งของแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ (ที่ 4 จากซ้าย ) คุณอนุทิน ชาญวีรกูล (ที่ 5 จากซ้าย)

คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ (ที่ 5 จากซ้าย) และครอบครัว ถ่ายรูปร่วมกับผู้บริหาร บี.กริม

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน
Advertisment