สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาสถาบันวิทยสิริเมธี และติดตามการพัฒนาธุรกิจกลุ่ม ปตท. วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง

388
- Advertisment-

วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2566) – สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี ระดับดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2565 จำนวน 35 ราย พร้อมพระราชทาน “ทุนพระราชทานศรีเมธี” แก่นิสิตที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม จำนวน 4 ราย และพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2565 โดยมีนายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายไพรินทร์  ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมคณะผู้บริหารจากกลุ่ม ปตท. ร่วมกับผู้บริหารสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เฝ้าฯ รับเสด็จฯ

     

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จึงร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2558 ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ปัจจุบัน สถาบันวิทยสิริเมธี ประกอบไปด้วย ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า และ 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สำนักวิชาวิทยาการชีวโมเลกุล สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพสูงด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม และส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาและวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก สามารถต่อยอดใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมสร้างการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และส่งเสริมความยั่งยืนแก่สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

- Advertisment -

สำหรับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนรุ่นที่ 6 สำเร็จการศึกษา จำนวน 69 คน แบ่งเป็นนักเรียนที่ได้ศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) จำนวน 48 คน ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและอื่น ๆ จำนวน 21 คน โดยได้รับทุนศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ และได้รับทุนการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธีเพื่อศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี ระดับปริญญาตรีภายในประเทศด้วยเช่นกัน

ในวันเดียวกัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปยังสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี ซึ่งจัดตั้งจากการสนับสนุนของธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) ติดตามความก้าวหน้าด้านงานวิจัยและพัฒนา พร้อมทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการและนิทรรศการผลงาน เช่น ห้องปฏิบัติการวิจัย Wangchan Advanced Industrial Labs โครงการกลุ่มวิจัย Interfaces Lab โครงการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โครงการกลุ่มวิจัย Brain Lab เป็นต้น

ต่อมาทรงทอดพระเนตรผลงาน โรงเรือนสาธิตเทคโนโลยีชีวภาพ ที่นำเสนอภาพรวมโครงการเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อ Net Zero เกษตรยั่งยืนและอาหารปลอดภัย รวมถึงโครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อุตสาหกรรมชีวภาพและชุมชนที่ยั่งยืน จ.น่าน ที่นำโครงการต้นแบบไปพัฒนาสู่การใช้งานจริงในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านนวัตกรรมของวังจันทร์วัลเลย์และกลุ่มธุรกิจใหม่ ปตท. ณ ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center : IOC) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทรงทอดพระเนตรการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจใหม่ ปตท. โดยขับเคลื่อนจากการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่ม ปตท. ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายใน พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) 2.ด้านนวัตกรรมเพื่อยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่โลกแห่งยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร มุ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าในระดับสากล 3.ด้านนวัตกรรมเพื่อโลกยุคใหม่ (AI and Robotics) มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและขยายขีดความสามารถสู่สากล 4.ด้านนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตและสังคม (Life Science) สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน ผ่านการดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจยา กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ และ กลุ่มธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ

         

อนึ่ง โครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ โครงการวังจันทร์วัลเลย์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะพัฒนาพื้นที่โครงการฯ ให้มีระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ในระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เข้าด้วยกัน

Advertisment