- Advertisment-

สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) สนับสนุนนิสิต นักศึกษา พัฒนาทักษะการสื่อสาร แจก 6 รางวัล รวมมูลค่ากว่า 70,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร ให้แก่ผู้ชนะการแข่งขันการนำเสนอโครงงานวิศวกรรมด้านไฟฟ้าและพลังงาน IEEE PES 5-minute student project pitch (5MSPP) competition 2024 หรือ 5MSPP 2024 เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตและนักศึกษาที่จะเป็นวิศวกรในอนาคต ได้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติและพัฒนาทักษะการนำเสนอผลงานในรูปแบบที่กระชับและมีประสิทธิภาพ

สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ได้เล็งเห็นความสำคัญของทักษะการสื่อสาร (Communication Skills) ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับนิสิต นักศึกษา และวิศวกรในศตวรรษที่ 21 จึงได้จัดโครงการ IEEE PES 5-minute student project pitch (5MSPP) competition 2024 หรือ 5MSPP 2024 เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ที่ใกล้สำเร็จการศึกษาและกำลังจะเป็นวิศวกรในอนาคต ได้มีโอกาสปฏิบัติงานและพัฒนาทักษะการนำเสนอผลงานในรูปแบบที่กระชับและมีประสิทธิภาพ เพราะการนำเสนอผลงานต่อผู้คนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอในชีวิตการทำงานของวิศวกร การแข่งขันการนำเสนอโครงงานวิศวกรรมของนิสิต นักศึกษา 5MSPP ในครั้งนี้ จึงถูกจัดขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์อันมีค่าให้แก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ที่จะได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะการสื่อสารความคิดด้วยคำพูด ประกอบกับการใช้สื่อการนำเสนออิเล็กทรอนิกส์ที่กระชับและมีประสิทธิภาพดังกล่าว

- Advertisment -

โดยสมาคมฯ ได้เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ทำโครงงานวิศวกรรมด้านไฟฟ้าและพลังงาน รวมเป็นทีมได้ทีมละไม่เกิน 2 คน และสมัครเข้าร่วมการแข่งขันโดยการนำเสนอข้อเสนอโครงงาน (Project Proposal) ในรูปแบบคลิปวิดีโอที่มีความยาวไม่เกิน 5 นาที โดยผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านการประเมินโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมฯ จะต้องส่งสรุปย่อโครงงาน (Project Summary) ไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4 สำหรับการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย และในการแข่งขันรอบสุดท้าย ผู้เข้าแข่งขันจะต้องเตรียม โปสเตอร์นำเสนอโครงงานขนาด และ ไฟล์การนำเสนอโครงงานในรูปแบบ PowerPoint สำหรับการนำเสนอ 5 นาที โดยการนำเสนอที่ใช้เวลาเกิน 5 นาที จะถูกปรับแพ้

ทั้งนี้ ผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ 5MSPP 2024 ที่จัดขึ้น ณ การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่คลองเตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (23 เมษายน 2567) มีดังนี้

รางวัลชนะเลิศ

รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม CO2U จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาชิกในทีมประกอบด้วย นางสาวสิริกัญญ์ หอมแก่นจันทร์และนางสาวจิรัชญา พุทธา อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.เนาวรัตน์ เทพหริรักษ์ และ รศ.ดร.ศิวพล ศรีสนพันธุ์ นำเสนอเรื่อง การศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาจากการคายประจุไฟฟ้าสำหรับการปรับปรุงคุณภาพอากาศ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม Solar Rooftop Business Model จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาชิกในทีมได้แก่นางสาวพัชรามาศ สุขศรี และนายสารัช บุญบำเรอ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.เนาวรัตน์ เทพหริรักษ์ นำเสนอเรื่อง การศึกษาแผนการดำเนินธุรกิจของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม Energy Ladkrabang จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยสมาชิกในทีมได้แก่ นางสาวรัชประภา แสงจันทร์ และนายภูชิต ฝอฝน อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.ธีรพล โพธิ์พงศ์วิวัฒน์ เรื่องที่นำเสนอคือ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำที่โรงงานผลิตน้ำสามเสน โรง 2

สำหรับรางวัลชมเชย ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร มี 3 รางวัล ได้แก่ 1. ทีม Gateway จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร สมาชิกประกอบด้วยนางสาวธัญจิรา มาสีกุก และนางสาวสุนิกานต์ ทองสี อาจารย์ที่ปรึกษา อ.ดร.เศรษฐา ตั้งค้าวานิช นำเสนอเรื่อง แพลตฟอร์มเกตเวย์สำหรับระบบจัดการพลังงานที่มีการเชื่อมต่อแหล่งจ่ายไฟฟ้าแบบหลากหลาย 2. ทีม TU Connext จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกได้แก่นายปราการ อิงคเตชะ และ นายธรีธนศิฐ พิมหะศิริ อาจารย์ที่ปรึกษา ศ.ดร.พิชัย อารีย์ นำเสนอเรื่อง การจำลองการควบคุมกริดอินเวอร์เตอร์ด้วยเทคโนโลยี HIL/RCP และ 3.ทีม E05 is not a place, it’s a people จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาชิกประกอบด้วยนายณฏฐกร สุขมานนท์ และ นายกฤษณพงศ์ สังข์แก้ว อาจารย์ที่ปรึกษา อ.ดร.ธงชาติ เกิดผล นำเสนอเรื่อง การศึกษาและปรับปรุงเสถียรภาพของกริดขนาดเล็กที่มีอัตราส่วนพลังงานทดแทนในระดับสูง

ทั้งนี้ ผู้เข้าแข่งขันรอบสุดท้ายทุกคนจะได้รับประกาศนียบัตรจากสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย)

Advertisment