“สมคิด”มั่นใจเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้งพุ่งทะยาน จากเมกะโปรเจกต์ในEEC

287
- Advertisment-

รองนายกรัฐมนตรี ” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ” มั่นใจเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งพุ่งทะยานต่อเนื่อง จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC  ที่คาดว่าไม่เกินเดือนมิถุนายนนี้ จะได้ผู้ชนะการประมูล  ในขณะที่การส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวกับด้านพลังงาน บีโอไอ พร้อม หนุนสมาร์ทซิตี้  สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และ เร่งรัดให้โรงกลั่นน้ำมันปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 (Euro 5) เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปีแห่งการลงทุน : เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาส” ยอมรับว่าความท้าทายที่เปลี่ยนเป็นโอกาสของประเทศไทยมี 4 ประการ โดยประการแรก คือเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งต่อเนื่อง เห็นได้จาก GDP ที่เติบโตต่อเนื่องจาก 0.9% เมื่อ 4 ปีก่อน มาเป็น 4.1% ในปี 2561 ภาคการเงินของไทยแข็งแกร่ง และภาวะตลาดทุนโดดเด่นกว่าทุกตลาดในอาเซียน

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่เพียงดัชนีเศรษฐกิจต่างๆ ที่ดีขึ้น แต่โครงการต่างๆ ที่ขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ ก็มีความคืบหน้าอย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะโครงการ EEC ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนทั่วโลก และช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การลงทุนจากต่างประเทศใน EEC เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่า 100% และล่าสุด การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มีความคืบหน้าไปมาก เป็นสัญญาณที่ดีของการลงทุนในอนาคต ทั้งโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โครงการศูนย์ซ่อมการบิน (MRO) โครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งอยู่ในช่วงการประมูลและการเจรจาในรายละเอียด และคาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลไม่เกินเดือนพฤษภาคม หรือเดือนมิถุนายนนี้ เช่นเดียวกับโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ก็อยู่ระหว่างการประมูลโครงการ

- Advertisment -

สำหรับการส่งเสริมนอกพื้นที่ EEC เช่น โครงการรถไฟฟ้าในเมืองสายต่างๆ รวมทั้งรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง รถไฟรางเบา ทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต และนครราชสีมา ก็ทยอยออกมาโดยลำดับ พร้อมกับการขยายสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินในภูมิภาค, โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับภาคเอกชนเพื่อเชื่อมต่อฮ่องกงกับจีน ซึ่งจะทำให้ไทยเป็น National Digital Gateway ในอนาคต รวมทั้งการเตรียมการเข้าสู่ 5G ในปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไม่เพียงประกาศให้เป็นปีแห่งการลงทุนเท่านั้น แต่จะมุ่งสู่มิติใหม่ๆ ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย โดยเฉพาะมิติทางสังคมที่ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำผ่านการลงทุนด้านการศึกษา โครงการลงทุนด้านสาธารณสุข โครงการดูแลผู้สูงอายุเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่จะมีจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนเทียบเท่ารัฐบาลนี้ และการมีโครงการต่างๆ เหล่านี้ที่เตรียมการไว้ รวมทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังคงเพิ่มขึ้น ทำให้แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะซบเซา แต่เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องได้ในปี 2562 และในปีต่อไป โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้ง มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะพุ่งทะยานเร็วกว่านี้อย่างแน่นอน

ในอนาคต หากต้องการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการพัฒนา โดยสิ่งแรก คือการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ ต้องมีให้มากขึ้น ใช้วิทยาการสูงขึ้น 2. เชื่อมโยงภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคท่องเที่ยว และภาคการส่งออก เข้าด้วยกัน 3.การเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศมากขึ้น 4.การสร้างเส้นทางคมนาคมให้เกิดการเชื่อมโยงทั้งทางรถยนต์ รถไฟ การบิน และทางเรือ ให้เกิดการเชื่อมต่อเมืองใหญ่ และเกิดเมืองใหม่ในวันข้างหน้า เกิดการเชื่อมพื้นที่ในจังหวัดใหญ่กับจังหวัดรอง เพื่อสร้างความเจริญในท้องถิ่น และต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กี่ราย มาเป็นแบบที่มีผู้ประกอบการรายใหม่ (Entrepreneur) ที่มีประสิทธิภาพสูง และอยู่ในยุคดิจิทัล เพื่อสามารถแข่งขันได้ และ 5.การสานต่อเรื่องภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitic) ซึ่งขณะนี้ รอเพียงวันเลือกตั้ง โดยรองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าหลังการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะกลับมาและมาสานต่อโครงการเหล่านี้ อย่างแน่นอน

สำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีทั้งข้อดีและข้อน่ากังวล โดยข้อดีคือประเทศจะกลับเข้าสู่สังคมโลกจากการเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่นักลงทุนก็มีความกังวลว่านโยบายหรือโครงการต่างๆ ที่ทำมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งขอยืนยันว่า โครงการใหญ่ๆ เช่น EEC จะเดินหน้าอย่างแน่นอน เนื่องจากมีการกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมีการออกกฎหมายมารองรับไว้เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ นางดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ที่ผ่านมา บีโอไอได้นำเสนอมาตรการพิเศษต่างๆ เพื่อต้อนรับปีแห่งการลงทุน ประกอบด้วยมาตรการสำคัญ 2 ด้าน คือ มาตรการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อาทิ สมาร์ทซิตี้ มาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยมั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายมาตรการที่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศ เช่น มาตรการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งคณะกรรมการ หรือ บอร์ดบีโอไอ ได้พิจารณาเร่งรัดให้โรงกลั่นน้ำมันปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 (Euro 5) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นทั้ง 6 ราย เร่งปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจากมาตรฐานยูโร 4 ในปัจจุบันให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 ภายในสิ้นปี 2562 นี้ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร

ส่วนการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC บีโอไอได้กำหนดมาตรการพิเศษ การให้สิทธิประโยชน์ เพื่อกระตุ้นการลงทุนรวมทั้งเพิ่มการส่งเสริมการลงทุนอื่นๆ อาทิ การลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่10 จังหวัด (ตาก ตราด มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส) ออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนมากขึ้น

Advertisment