สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) และสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี เดินหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยหลักการของปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา ต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” จัดเวิร์คช้อปกิจกรรม “เคมีดาวอะคาเดมี่ (Dow Chemistry Academy 2022)” เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อส่งเสริมศักยภาพครูวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศโดยขยายผลเครือข่ายการสอนวิชาเคมีแบบย่อส่วนอย่างต่อเนื่อง
เวิร์คช้อปกิจกรรม “เคมีดาวอะคาเดมี่ (Dow Chemistry Academy 2022)” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 -30มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพโดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีมาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงลึก ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการออกแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนอย่างเหมาะสมกับผู้เรียนยุคใหม่ และอนาคตของการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ให้แก่คุณครูต้นแบบในโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” จำนวนกว่า 50 คน
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายณัฐพงศ์ จิรวัฒนาวรกุล ผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กรและกิจการสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า “เราจะทำอย่างไรให้เด็กเห็นความสำคัญของเคมี จะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนเข้าถึงง่าย มีความเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ถ้าสามารถทำได้จะถือว่าสุดยอด อย่าให้ความรู้ของเด็กจบอยู่ที่ความรู้ของเรา แต่ต้องให้เด็กได้ความรู้จากเครือข่ายภายนอกด้วย เพื่อให้เขาเรียนรู้ได้อย่างไร้ขอบเขต”
นายณัฐพงศ์ จิรวัฒนาวรกุล ผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กรและกิจการสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “เวทีในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนและติดอาวุธให้กับครู พัฒนาศักยภาพจนนำผลไปประยุกต์ใช้ที่โรงเรียนได้ และเผยแพร่เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนไปยังนักเรียน ทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลต่อความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นการจุดประกายให้เยาวชนมีเป้าหมายเป็นนักวิทยาศาสตร์มากขึ้นในอนาคต ถือเป็นการสร้างคนคุณภาพที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนและประเทศต่อไป”
นอกจากนี้ คุณครูต้นแบบทุกท่านยังได้เข้าฟังบรรยายหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากนักวิทยาศาสตร์และนักเคมีแขนงต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในงาน Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON 2022) ภายใต้แนวคิด “Frontiers in Chemical Sciences for Health, Energy, and Sustainability Chemistry Toward a Sustainable Future” ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดให้กับนักเรียนในชั้นเรียน พร้อมทั้งนำเสนอผลงานที่ส่งเข้าประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนประจำปี พ.ศ. 2564 ภายใต้โครงการห้องเรียนเคมีดาว (DOW-CST Award 2020-2021) ให้กับผู้ร่วมงานกว่า 1,000 คน ณ หอประชุม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
นายภูมิตะวัน แสงสุข โรงเรียนบุณฑริกวิทยาคาร คุณครูต้นแบบ กล่าวว่า “ที่โรงเรียนมีชุมนุมเคมีย่อส่วน เด็ก ๆ เขาก็จะคิดโครงงานขึ้นมา เราก็ส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้ส่งโครงการเข้าประกวด ส่วนคุณครูท่านอื่นถ้าสอนทางด้านวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ก็สามารถนำเอาชุดการทดลองไปใช้ได้ง่ายมาก เพราะมีคู่มือที่เข้าใจได้ง่าย”
นางสริลลา เจริญมิตรมงคล โรงเรียนรามันห์ศิริวิทย์ กล่าวว่า “โครงการนี้ทำให้เราสามารถทำการทดลองโดยใช้สารเคมีปริมาณน้อยแต่ได้ผลชัดเจน สามารถเซฟค่าใช้จ่าย เซฟความปลอดภัยให้เด็กนักเรียน ทำให้โรงเรียนเล็ก ๆ ที่ไม่มีอุปกรณ์มากมาย สามารถทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้”
นางอัจฉรา ถาวรคุณ โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง กล่าวเสริมว่า “ในการสอนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นนั้นจะมีความวุ่นวายพอสมควร การมีสารเคมีหลายประเภทในปริมาณมากทำให้นักเรียนเกิดความสับสน พอเขาไม่เข้าใจ ก็ส่งผลให้ไม่ชอบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ แต่พอได้นำการทดลองเคมีแบบย่อส่วนมาใช้ เด็ก ๆ ก็เข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นการเอาการทดลองใหญ่มาย่อไว้ในกล่องกล่องเดียว การทดลองก็สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ทำให้เด็ก ๆ มีความสุขในการเรียนวิทยาศาสตร์ค่ะ”
ดร.อุษา จีนเจนกิจ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวว่า “การเรียนเคมีเมื่อนักเรียนได้ทำการทดลอง เขาก็จะมีความเชื่อมั่นมีความเข้าใจได้มากกว่าการฟังคำบอกเล่าจากครู ดิฉันอยากจะพัฒนาการทดลองเคมีแบบย่อส่วนให้ครอบคลุมหัวข้ออื่น ๆ มากขึ้น และให้ตอบโจทย์เรื่องเคมีสีเขียว ที่เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”
นางสาวทัศนีย์ ดลกุล โรงเรียนแกลง “วิทยสถาวร” กล่าวว่า “หลังจากที่ได้นำเอาวิธีการสอนเคมีแบบย่อส่วนไปประยุกต์ใช้ ทั้งกิจกรรมชุมชุมในห้องเรียน ใช้ในวิชาเรียน เด็กก็มีความชอบ ตื่นเต้น อยากเรียนรู้ต่อ ถามครูว่ามีแล็บอื่นอีกไหม วิชาอื่นมีแบบนี้อีกไหม”
นอกจากนี้ คุณครูที่ปรึกษาที่ได้รับรางวัลโครงงานวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมในการประกวด DOW-CST Award เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังได้เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศจากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในงาน PACCON 2022 เมื่อเร็ว ๆ นี้อีกด้วย