รัฐมนตรีพลังงาน ยังไม่อนุมัติให้เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตเป็น Shipper รายใหม่ จาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นำเข้า LNG จนกว่าจะมีความชัดเจนในนโยบายจาก กบง.และกพช. ที่จะพิจารณารายงานผลการทดลองนำเข้า LNG จำนวน 1.3 แสนตันของ กฟผ.และแนวทางการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่2 ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในเดือน ก.ค.2563 นี้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานยืนยันว่าบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่อนุมัติออกให้ไปก่อนหน้านี้ จะยังไม่สามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ในประเทศได้จริง โดยต้องรอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเป็นรายบริษัทอีกครั้งว่าจะอนุญาตให้นำเข้ามาใช้กับโรงไฟฟ้าตามที่ระบุได้หรือไม่
โดยกระทรวงพลังงาน จะต้องรอดูผลการทดลองนำเข้า LNG ตามนโยบายการเปิดเสรีก๊าซระยะแรก ที่ ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ทดลองนำเข้าLNG จำนวน 2 คาร์โก้ ปริมาณรวม 1.3 แสนตัน เพื่อมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5, โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 4 ที่ได้ดำเนินการนำเข้าไปแล้ว เมื่อเดือน ธ.ค. 2562 และ เม.ย.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งหากไม่มีผลกระทบอะไรจึงจะพิจารณาภาพรวมการนำเข้า LNG ของ Shipper รายใหม่อื่นๆต่อไป ขณะนี้จึงยังถือว่าเร็วไปที่จะสรุปได้ว่าในการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 กระทรวงพลังงาน จะอนุญาตให้เอกชนนำเข้า LNG เพื่อมาใช้กับโรงไฟฟ้าของตัวเองได้หรือไม่
โดยในขั้นตอน จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) รวมถึงต้องมีการหารือกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการด้านท่อก๊าซฯด้วย
สำหรับนโยบายเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ แบ่งเป็น เปิดให้นำเข้าเพื่อใช้เอง และเปิดให้นำเข้าเพื่อส่งออก ซึ่งในส่วนของการนำเข้าเพื่อส่งออกได้ให้ ปตท.เป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)การซื้อขายก๊าซในภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่าปลายปี 2563 นี้ จะเริ่มนำเข้าเพื่อส่งออกได้
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ที่ผ่านมามีเพียง ปตท.รายเดียวที่จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในประเทศ แต่ภายหลังภาครัฐมีนโยบายเปิดเสรีก๊าซฯ โดยในระยะแรก กพช.อนุมัติให้ กฟผ.เป็น Shipper รายที่ 2 ที่ทดลองนำร่องเป็นผู้จัดหาและนำเข้า LNG แบบตลาดจร (Spot) ปริมาณนำเข้ารวม 1.3 แสนตัน แบ่งเป็นนำเข้าในเดือนธ.ค. 2562 จำนวน 65,000 ตัน และเม.ย.2563 จำนวน 65,000 ตัน
ส่วนการเปิดเสรีก๊าซระยะที่ 2 ที่จะให้มีการเพิ่มจำนวน Shipper ขึ้นอีกหลายรายเพื่อให้เกิดการแข่งขัน นอกเหนือจาก ปตท.และ กฟผ. นั้น มติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ กกพ. ไปทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำเสนอ กบง. และ กพช. พิจารณา ซึ่งคาดว่า กบง.จะมีการนัดประชุมต้นเดือน ก.ค.และ กพช.นัดประชุมปลายเดือน ก.ค. 2563 นี้
อย่างไรก็ตามในการประชุม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติออกใบอนุญาตจัดหาและนำเข้าก๊าซฯ (Shipper) ให้ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) นำเข้า LNG จำนวน 3 แสนตันต่อปี และบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด(HKH) นำเข้าLNG จำนวน 1.4 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าหินกองชุดที่ 1และ 2 กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ และในการประชุม กกพ. วันที่ 27 พ.ค. 2563 ก็อนุมัติให้ บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด เป็น Shipper รายล่าสุด นำเข้า LNG จำนวน 6.5 แสนตันต่อปี