“สนธิรัตน์” นำเทคโนโลยี Blockchain ปฏิรูปวงการปาล์มน้ำมัน ดึงราคาผลผลิตช่วยเกษตรกรได้จริงหรือ?
วันพรุ่งนี้ 6 มิ.ย.2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเดินทางลงพื้นที่ไปพบกับสหกรณ์ชาวสวนปาล์ม ต.คลองยา อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคและพูดคุยเรื่อง Blockchain กับทิศทางใหม่ของชาวสวนปาล์ม
คำถามก็คือ เจ้า Blockchain นี่มันคืออะไร มันจะมาช่วยแก้ปัญหาราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำของเกษตรกรชาวสวนปาล์มได้อย่างไร และทำไมเรื่องนี้ ต้องเป็นบทบาทของ รัฐมนตรีพลังงาน ออกมาลุยเอง ไม่ใช่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดูแลเรื่องการผลิต หรือกระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลกลไกตลาด ราคา การซื้อขาย
ช่วง1-2 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนปาล์มประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ราคาปาล์มทั้งทะลายดิ่งลงต่ำกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม ในวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ ภาครัฐมองว่าเป็นเรื่องของดีมานด์ซัพพลาย คือผลผลิตออกมามาก ในขณะที่ตลาดรับซื้อเพื่อนำผลผลิตไปใช้มีจำกัด จึงออกมาตรการมาช่วยเหลือ เพื่อดูดซับปริมาณปาล์มน้ำมัน หรือ Crude Palm Oil -CPO ออกจากตลาด ทั้งให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขน CPO ลงเรือไปเผาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ที่โรงไฟฟ้าบางปะกง โดยยอมที่จะแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ร่วม 4 พันล้านบาท และอีกทางคือการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลB20 ( ดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (B100 ) ในสัดส่วน 20% ในทุกลิตร) และส่งเสริมไบโอดีเซลB10 แต่ก็ปรากฏว่ายังไม่ได้ช่วยยกระดับราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันได้ตามเป้าหมาย
ปัญหาสำคัญข้อหนึ่งที่ส่งผลให้ราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศตกต่ำและภาครัฐไม่ได้พูดถึงมากนักคือ การลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ หรือ CPO จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่า CPO ในประเทศประมาณ 5-6 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ ผลผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรที่ส่งเข้าโรงสกัดผลิตเป็น CPO ถูกกดราคา
กลไกราคาปาล์มน้ำมันที่ผิดเพี้ยนไปจากตรรกะตั้งต้นตั้งแต่ผลปาล์มดิบทั้งทะลาย ไปเป็น น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ( B100 ) ก่อนไปผสมเป็นน้ำมันไบโอดีเซล เป็นเหตุผลที่ทำให้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีกรมธุรกิจพลังงาน ที่กำกับดูแลผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งเป็นปลายทางของปาล์มน้ำมันอยู่ในมือ คิดหาทางออกที่จะช่วยให้กลไกราคากลับมาทำงานอย่างถูกต้องตามตรรกะ คือการนำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการทำธุรกรรมซื้อขาย โดยเริ่มนำร่อง กับปตท. ที่เป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่อยู่ในกำกับดูแล ก่อนที่จะขยายผลไปสู่ผู้ค้าน้ำมันและโรงงานผลิต B100 รายอื่นๆ ซึ่ง สนธิรัตน์ เชื่อว่า หากทั้ง Supply Chian ตั้งแต่ผู้ค้าน้ำมัน ไล่ลงไปยัง โรงงานB100 โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ และเกษตรกรชาวสวนปาล์ม เข้าสู่ระบบBlockchain ทั้งหมดได้ นั่นจะเป็นการปฏิรูปวงการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศเลยทีเดียว ปัญหาการลักลอบนำเข้าCPO จะถูกกันออกจากระบบไปโดยปริยาย
เพราะหากตั้งต้นที่ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ อย่างปตท. ที่อยู่ในกำกับของกระทรวงพลังงาน ซื้อ B100 อ้างอิงเฉลี่ย วันที่ 1-7 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 26.15 บาทต่อลิตร ราคาCPO อยู่ที่ 21.50 – 22.40 บาทต่อกิโลกรัม ราคาผลปาล์มน้ำมัน(18%) ควรจะต้องอยู่ที่ประมาณ 3.68-3.86 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะต้องสูงกว่ากลไกเดิมที่ ณ วันที่ 25-29 พ.ค. 2563 ราคาผลปาล์มน้ำมันยังเฉลี่ยอยู่ที่ 3.40 – 3.70 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (ตามสูตรการคำนวณราคาของกรมธุรกิจพลังงาน )
ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันต์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อธิบายถึงเรื่อง Blockchain ว่าเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่มีการนำมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลธุรกรรม ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หลังจากที่มีการบันทึกการทำธุรกรรมไปแล้ว
คำว่า blockchain นั้น มาจากคำว่า block และ chain ที่นำมาต่อกัน โดย block นั้นจะทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลธุรกรรม เมื่อทำธุรกรรมสำเร็จแล้ว block นั้นๆจะถูกเติมเข้าไปในห่วงโซ่หรือที่เรียกว่า chain ซึ่งข้อมูลการทำธุรกรรมทั้งหมดจะถูกกระจายเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ( กรณีในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน คือ ทั้งผู้ค้าน้ำมันที่ซื้อ B100 ,โรงงานผลิตB100 ที่ขายให้กับผู้ค้าน้ำมัน , โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ(CPO)ที่ส่งCPO ให้โรงงานB100 , และเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่ขายผลผลิตปาล์มให้กับโรงงานสกัด ) โดยข้อมูลของทุกเครื่องจะต้องตรงกัน และหากจะมีการแก้ไขข้อมูลในภายหลังนั้นจะต้องแก้ไขข้อมูลในทุกเครื่องเช่นกันซึ่งในทางปฏิบัตินั้นเป็นไปได้ยาก ที่จะมีการแอบแก้ไขข้อมูลนี้โดยคนใดคนหนึ่งได้ ซึ่งเราเรียกระบบนี้ว่า decentralization หรือระบบที่ไม่มีศูนย์กลางสำหรับดูแลข้อมูล ข้อดีคือ ทุกคนจะเป็นคนคอยดูแลข้อมูลทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมถูกลง เนี่องจากไม่มีคนกลางคอยเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม และทุกคนสามารถตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลได้ และระบบจะไม่ล่ม หรือล่มได้ยาก เนื่องจากเครื่องทุกเครื่องในระบบจะถือเป็นเซิร์พเวอร์ของระบบ ด้วยข้อดีดังกล่าวทำให้เริ่มมีการใช้ blockchain ในการทำธุรกรรมอื่นที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจากการที่ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลใน block ซึ่งทำการบันทึกธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้ ทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้โดยง่าย และโปร่งใสมากขึ้น
นักวิชาการยืนยันแล้วว่า blockchain นำมาใช้ในการทำธุรกรรมซื้อขายปาล์มน้ำมันได้จริง ทั้ง Supply Chian โดยคนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือ เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ที่จะไม่ถูกกดราคาผลผลิต แบบไม่มีเหตุผลอีกต่อไป ส่วนคนที่เสียประโยชน์ในเรื่องนี้ ก็น่าจะเป็นขบวนการลักลอบนำเข้าCPO นั่นเองที่จะถูกตรวจสอบได้ หากมี CPO ส่วนเกินโผล่ออกมาจากโรงสกัด
อย่างไรก็ตามเกมการเมืองในพรรคพลังประชารัฐที่กดดันให้มีการเปลี่ยนตัวกรรมการบริหารพรรคและปรับคณะรัฐมนตรี โดยที่ตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน ที่นายสนธิรัตน์ นั่งอยู่ เป็นหนึ่งในเป้าหมายด้วย โดยหากนายสนธิรัตน์ ที่เป็นผู้ผลักดันในเรื่องนี้ ถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานกลางทาง ก็แน่นอนว่าจะมีผลต่อการนำ blockchain ลงสู่ภาคปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อช่วยเกษตรกรชาวสวนปาล์มให้ได้ราคาผลผลิตที่สูงขึ้นอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้