สกนช.เร่งวางแผนดูแลราคาดีเซลปี 2567 เสนอ กบน. พิจารณาเดือน พ.ย. 2566 ก่อนสิ้นสุดมาตรการ 30 บาทต่อลิตรสิ้นปีนี้

546
- Advertisment-

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เร่งจัดทำแผนบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ดูแลราคาขายปลีกดีเซลปี 2567 ต่อเนื่องหลังสิ้นสุดนโยบายอุ้มดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ในวันที่ 31 ธ.ค. 2566  คาดชงบอร์ดคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ( กบน.) พิจารณาได้ในเดือน พ.ย. 2566 ขณะที่เงินกู้เสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ กรอบ 1.5 แสนล้านบาท จะสิ้นสุดในวันที่ 5 ต.ค. 2566 นี้ คาดสิ้นปี 2566 นี้ กองทุนฯ จะติดลบ 90,000 -100,000 ล้านบาท

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า สกนช.อยู่ระหว่างจัดทำแผนบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในปี 2567 หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 ได้มอบหมายให้ สกนช.ไปจัดทำแผนจำลองสถานการณ์ (scenario) ซึ่งก่อนหน้านี้ กบน. มีมติให้ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 ขณะที่การกู้ยืมเงินเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามกรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท จะครบกำหนด 1 ปี หรือสิ้นสุดในวันที่ 5 ต.ค.2566 นี้ โดยคาดว่าการจัดทำแผนจะมีความชัดเจนภายในเดือน พ.ย. 2566 นี้ เพื่อเสนอบอร์ด กบน.พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้จะต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลังถึงแนวนโยบายการบริหารจัดการงบประมาณที่เหมาะสมด้วย ซึ่งตามกฎหมายมีเครื่องมือหลายอย่างที่ สกนช.จะนำมาใช้บริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ได้ เช่น กลไกการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ, การกู้เงิน ,งบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐ, เงินบริจาค เช่น ในปี 2565 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้บริจาคเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อมาช่วยสนับสนุนกองทุนน้ำมันฯ รวมถึงยังมีกลไกภาษีสรรพสามิตจากกระทรวงการคลัง ที่เดิมเคยลดการจัดเก็บภาษีลง 5.99 บาทต่อลิตร และปัจจุบันยังลดการจัดเก็บไม่หมดเหลืออยู่ที่ 3.67 บาทต่อลิตร ซึ่งการหารือกับกระทรวงการคลังจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการนำมาประกอบการจัดทำ scenario เพื่อบริหารจัดการราคาน้ำมันในปี 2567

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม ตามกรอบเงินกู้ดังกล่าว สกนช.ได้ดำเนินการกู้เงินทั้งหมดอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท และยังเหลือวงเงินอีกประมาณ  50,300 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้ดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรไปจนถึง 31 ธ.ค.2566 โดยจนถึงสิ้นปี 2566 นี้ คาดว่าสถานะกองทุนน้ำมันฯ จะติดลบอยู่ที่ระดับ 90,000-100,000 ล้านบาท (ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 120-130 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) จากล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 กองทุนฯ มีสถานะ ติดลบอยู่ที่ 65,732 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 20,806 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม ( LPG) ติดลบ 44,926 ล้านบาท สำหรับปี 2567 คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลก จะอยู่ที่ 115 -130 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

พร้อมกันนี้ สกนช. จะทบทวนแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 5 ปี (พ.ศ.2568-2572) เพื่อปรับปรุงยุทธศาสตร์การรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อพิจารณาว่า หลักเกณฑ์ระดับราคาที่เหมาะสมของน้ำมันเชื้อเพลิงควรอยู่ที่เท่าใดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วนยุทธศาสตร์การลดการจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้ขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปครั้งแรก 2 ปีจนถึงวันที่ 24 ก.ย. 2567 นั้น จะต้องพิจารณาทิศทางของราคาเชื้อเพลิงชีวภาพที่นำมาเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงอีกครั้งว่าจะเป็นเช่นไร อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ยังเปิดช่องให้สามารถต่ออายุไปได้อีกครั้งจนถึงปี 2569 ซึ่งเป็นเรื่องที่ สกนช. จะต้องนำเสนอให้กับรัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป

นายวิศักดิ์ ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในรอบ 1 ปีตามปีงบประมาณ (ต.ค.2565-ก.ย.2566) ว่า ช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.-ธ.ค.2565) สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกเริ่มผ่อนคลายลง ฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เคยติดลบสูงสุดถึง 130,000 ล้านบาท ก็ทยอยติดลบลดลงด้วย รัฐบาลจึงมีมาตรการนำกลไกลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเข้ามาช่วยพยุงราคาน้ำมัน และกองทุนฯ ทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลง โดย กบน. มีมติปรับลดราคาขายปลีกดีเซลไปแล้วรวม 7 ครั้ง จากราคา 35 บาทต่อลิตรมาเป็น 32 บาทต่อลิตร จนปัจจุบันราคาลดลงมาอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ที่ให้ตรึงราคาดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-31 ธ.ค. 2566 โดยเบื้องต้นใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตลง 2.50 บาทต่อลิตร และใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ในการตรึงราคาขายปลีก

นอกจากนี้ การออกพระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 ได้มีส่วนช่วยทำให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยสถานะการกู้ยืมเงินของ สกนช. ได้ทยอยกู้ยืมเงินโดยสอดคล้องกับแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2566 โดยลงนามในสัญญากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท ปัจจุบัน สกนช. เบิกเงินกู้ยืมแล้วจำนวน 55,000 ล้านบาท และมีวงเงินกู้ยืมที่เบิกได้อีก 50,333 ล้านบาท

ส่วนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2566 ได้มีมติปรับขึ้นราคาจาก 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็น 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม มีผลวันที่ 1 มี.ค.2566 โดยให้กองทุนน้ำมันฯ เป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพราคา

ทั้งนี้ สกนช. มีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 93.39 คะแนน จาก 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 4 ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงาน 9 หน่วยงาน และคะแนนเฉลี่ยปี 2566 นี้ จัดอยู่ในอันดับที่ 11 ของหน่วยงานสังกัดองค์การมหาชน 59 หน่วยงาน โดยเป็นอันดับที่ดีขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ดี

Advertisment