สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เริ่มออกหนังสือเชิญชวนสถาบันการเงินร่วมแข่งขันปล่อยกู้ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ววันนี้ รวมวงเงินกู้ 1 หมื่นล้านบาท คาดเงินเข้ากองทุนฯ เสริมสภาพคล่องภายใน พ.ย. นี้ ท่ามกลางสถานะกองทุนฯ ติดลบสูงสุด 1.28 แสนล้านบาท
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ได้ส่งหนังสือเชิญชวนสถาบันการเงินเข้าร่วมแข่งขันเสนอเงื่อนไขการปล่อยกู้เงินให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยจะแบ่งการกู้รอบแรก 5,000 ล้านบาท และรอบสองอีก 5,000 ล้านบาท เพื่อเปิดกว้างให้สถาบันการเงินทั้งรายใหญ่และรายเล็กที่สนใจเข้ายื่นเสนอเงื่อนไขได้ โดยคาดว่าภายในวันที่ 3 พ.ย. 2565 จะรู้ผลว่ารายใดจะเป็นผู้ปล่อยกู้รอบแรก จากนั้นอีก 1 สัปดาห์จะทราบผลรายที่ 2 จากนั้น สกนช.จะรายงานให้ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) รับทราบ และคาดว่ากองทุนฯ จะได้รับเงินกู้ภายในเดือน พ.ย. 2565 เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนฯต่อไป
สำหรับการกู้เงินในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ผ่านความเห็นชอบกฎหมายที่ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยกำหนดกรอบวงเงินกู้ไว้ 1.7 แสนล้านบาท แต่กู้ได้สูงสุดเพียง 1.5 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ 6 ต.ค.2565-5 ต.ค. 2566 ประกอบกับกองทุนฯ มีสถานะติดลบสูงเป็นประวัติการณ์ ภายหลังการนำเงินไปชดเชยราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม(LPG) เกือบ 2 ปี ท่ามกลางสถานการณ์ราคาพลังงานโลกพุ่งสูง
โดยสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 23 ต.ค. 2565 กองทุนฯ ติดลบถึง 128,353 ล้านบาท โดยมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 85,587 ล้านบาท และมาจากบัญชี LPG ติดลบ 42,766 ล้านบาท
ทั้งนี้กองทุนฯ ยังมีเงินไหลเข้าจากการเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลพรีเมียม ประมาณ 2-3 พันล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 66-100 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่มีรายจ่ายสำหรับน้ำมันอยู่ที่ 166 ล้านบาทต่อวัน และรายจ่ายด้าน LPG อีก 21.85 ล้านบาทต่อวัน และล่าสุด กบน. วันที่ 28 ต.ค. 2565 ได้พิจารณาปรับเพิ่มการชดเชยราคาดีเซลอีกครั้งจากเดิมชดเชยอยู่ 2.57 บาทต่อลิตร เป็น 2.86 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาจำหน่ายปลีกดีเซลยังเท่าเดิมที่ลิตรละ 34.94 บาทได้ต่อไป
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ณ วันที่ 31 ต.ค. 2565 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 91.27 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.10 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 87.08 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.81 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 94.80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.97 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
ส่วนสถานการณ์ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน ณ วันที่ 31 ต.ค. 2565 ซึ่งรายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่าค่าการตลาดผู้ค้าดีเซลอยู่ที่ 0.81 บาทต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดกลุ่มเบนซินอยู่ที่ 2-3 บาทต่อลิตร ในขณะที่ค่าการตลาดเฉลี่ยระหว่าง 1-31 ต.ค. 2565 อยู่ที่ 1.83 บาทต่อลิตร โดยภาครัฐขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันตรึงค่าการตลาดไว้ไม่ให้เกิน 1.40 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตามขณะนี้ค่าการตลาดดีเซลต่ำกว่า 1 บาทต่อลิตรแล้ว ดังนั้นกองทุนฯ อาจต้องชดเชยราคาดีเซลเพิ่มจาก 2.86 บาทต่อลิตร ถ้าราคาน้ำมันโลกไม่ขยับลดลงในเร็วๆนี้