ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องคดี หมายเลขดำที่535/2561 และคดีหมายเลขแดงที่ 7985/2561ที่ หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ ฟ้องหมิ่นประมาท นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่มีการแชร์ข้อความและภาพจากเพจ “คุยกับหม่อมกร” และนำไปดัดแปลงเพิ่มเติม
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่535/2561 และคดีหมายเลขแดงที่ 7985/2561ที่หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี เป็นโจทก์ และนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี เป็นจำเลย เรื่องหมิ่นประมาท โดยสรุปเนื้อหาสำคัญว่า หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ ที่เป็นผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กชื่อ “คุยกับหม่อมกร “ได้ฟ้องนายวีระศักดิ์ ซึ่งเป็น อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และเป็นผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กที่ชื่อ “ Veerasak Pungrassamee” ที่แชร์ข้อความและภาพจากเฟซบุ๊ก ของหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 เกี่ยวกับราคาน้ำมันดิบโลก ซึ่งมีการตัดต่อและดัดแปลงทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยคาดตาและเติมเขาบนศรีษะ และนายวีระศักดิ์ ได้เขียนข้อความเพิ่มเติม ว่า “ จากข้อความและภาพที่โจทก์ เผยแพร่ในเฟซบุ๊กของโจทก์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 เกี่ยวกับราคาน้ำมันดิบโลก โดยจำเลยเพิ่มเติมข้อความ ว่า “น่าคิดว่าบ้านหม่อมเติมน้ำมันดิบเหรอ เขียนเชิงสงสัยไม่น่าผิด แต่ชี้นำให้คนอื่นคิดผิดๆ เพราะตัวเองเคยเป็นแกนนำคนคิดผิดเนี่ย เลวนะ จะไปใช้มุกตรวจสอบโตยสุจริตคงไม่มีใครเชื่อเพราะพฤติกรรมก่อนหน้านี้ชัดเจน ความผิดสำเร็จแล้ว “
โดยหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ บรรยายในคำฟ้องว่า เป็นการทำให้สาธารณะที่ติดตามเฟซบุ๊กของเขาจำนวนมาก เข้าใจได้ว่าโจทก์มีความโง่เขลา อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม หรือมองว่าคนที่มีเขาคือคนที่ถูกคู่สมรสนอกใจ อันเป็นการเปรียบเทียบ โจทก์กับสิ่งที่อยู่ในด้านลบ และข้อความที่เขียนว่า “ตัวเองเคยเป็นแกนนำคิดคิดผิดเนี่ย เลวนะ “ แสดงว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี แย่ ไม่ควรได้รับการนับถือ อันส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ถือเป็นการจงใจหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ และขอให้ลงโทษจำเลย คือนายวีระศักดิ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา326และ328 และขอให้ศาลสั่งให้จำเลยลงคำพิพากษาทั้งหมด และลงข้อความยอมรับว่าจำเลยมีเจตนาให้ร้ายโจทก์ พร้อมลงคำขอโทษโจทก์ ทั้งในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ข่าวชื่อดัง หลายสำนัก
อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ ได้พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติ โดยสรุปว่า ถ้อยคำดังกล่าวยังไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหรือใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามแต่อย่างใด ลำพังแต่ถ้อยคำดังกล่าวยังไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อจำเลยคัดลอกข้อความและภาพดังกล่าวมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊กของจำเลยต่ออีกทอด จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายเช่นกัน การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยอีก ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษสถานหนัก จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป พิพากษากลับให้ยกฟ้อง