ลุ้นเงินกองทุนน้ำมันฯ ติดลบต่ำสุดในรอบปี 2567 หลังเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันต่อเนื่อง เหลือติดลบกว่า 9 หมื่นล้านบาท

37
- Advertisment-

เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มติดลบลดลงต่อเนื่องเหลือ -93,602 ล้านบาท จากเคยติดลบต่ำสุดของปี 2567 กว่า 8 หมื่นล้านบาท ในเดือน ม.ค. เหตุคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ( กบน.) เร่งเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลและกลุ่มเบนซินเข้ากองทุนฯ ในช่วงราคาน้ำมันโลกปรับลดลง โดยปัจจุบันอยู่ในระดับกว่า 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนกรณีตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุด 31 ต.ค. 2567 นี้ ทางกระทรวงพลังงานเตรียมเสนอ ครม. พิจารณาต่ออายุถึงสิ้นปี 2567

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานสถานะเงินกองทุนฯ ล่าสุด ณ วันที่ 20 ต.ค. 2567 ว่า เงินกองทุนฯ ติดลบลดลงต่อเนื่อง โดยปัจจุบันติดลบรวม -93,602 ล้านบาท ซึ่งลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ 22 ก.ย. 2567 จากระดับที่เคยติดลบกว่าแสนล้านบาท

โดยในปี 2567 กองทุนฯ เคยติดลบต่ำสุดอยู่ที่ -80,074 ล้านบาท เมื่อเดือน ม.ค. 2567 และติดลบสูงสุดอยู่ที่ -111,663 ล้านบาท ในเดือน ก.ค. 2567   

- Advertisment -

ทั้งนี้สาเหตุที่ยอดเงินติดลบปรับลดลงต่อเนื่องเกิดจาก คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณายกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันทุกชนิดตั้งแต่เดือน ส.ค. 2567 และกลับมาเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันส่งเข้ากองทุนฯ แทน โดยล่าสุดกำหนดให้ผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ ดังนี้  

ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ 10.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ต้องส่งเข้าถึง 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ต้องส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ต้องส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 31.65 ล้านลิตรต่อวัน)

ส่วนผู้ใช้น้ำมันดีเซลและดีเซล B20 ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ 2.58 บาทต่อลิตร และดีเซลเกรดพรีเมียมต้องส่งเข้ากองทุนฯ 4.08 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลรวมอยู่ที่ 67.48 ล้านลิตรต่อวัน)

ส่งผลให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้าประมาณ 337 ล้านบาทต่อวัน หรือ 10,110 ล้านบาทต่อเดือน โดยมาจากเงินไหลเข้าจากผู้ผลิต LPG  5.94 ล้านบาทต่อวัน และเงินไหลเข้าจากผู้ใช้น้ำมัน 331 ล้านบาทต่อวัน  

นอกจากนี้ยอดเงินกองทุนฯ ที่ติดลบลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันโลกได้ปรับตัวลดลงด้วย ส่งผลให้กองทุนฯ สามารถเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันได้ในอัตราดังกล่าว โดยราคาน้ำมันโลกล่าสุด ณ วันที่ 22 ต.ค. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 74.66 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 70.50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.06 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 73.82 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.47 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ส่วนค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 22 ต.ค. 2567 พบว่าค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 4.40 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.33 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.40 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.38 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 3.07 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 1.89 บาทต่อลิตร และ ดีเซล B20 อยู่ที่ -0.12 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดระหว่าง 1-22 ต.ค. 2567 อยู่ที่ 2.40 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 1.5-2 บาทต่อลิตร)

สำหรับในส่วนของราคาดีเซล ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เคยกำหนดให้ตรึงราคาจำหน่ายไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค. 2567 นี้ ทางกระทรวงพลังงานเตรียมเสนอ ครม. พิจารณาขยายมาตรการตรึงราคาต่อไปจนถึงสิ้นปี 2567 นี้

Advertisment