วันนี้ (20 ก.ค. 2566) – ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) คณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียว และเครือข่ายลูกโลกสีเขียวทั่วประเทศ ร่วมยินดีกับผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ในงานพิธีมอบรางวัลฯ ครั้งที่ 21 ณ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “จุดพลังเปลี่ยนโลก”
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวว่า กว่าสองทศวรรษที่ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ได้ทำหน้าที่ในการค้นหา ยกย่อง ชื่นชม และเป็นกำลังใจให้กับบุคคล กลุ่มคน ชุมชนที่เข้มแข็ง พลังเล็ก ๆ เหล่านี้ ร่วมกัน ดูแลโลก รักษาสิ่งแวดล้อม โดยในปีนี้ ผลงานอันทรงคุณค่าทั้ง 44 ผลงาน ทุกผลงานล้วนมีคุณค่าต่อสังคมและประเทศเป็นอย่างยิ่ง
“ขอชื่นชมผู้ที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวทุกท่าน ซึ่งได้อุตสาหะ เสียสละ อุทิศกายและใจ ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม จนเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ ยิ่งในสถานการณ์ที่โลกรวน และภัยธรรมชาติอันเลวร้าย ผลงานทั้งหลายนี้ แสดงให้เห็นถึงทางออก ทางรอด และความหวัง ช่วยจุดพลังเปลี่ยนโลก”
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ กล่าวว่าปตท. ในฐานะองค์กรพลังงานของไทยได้ดำเนินภารกิจเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานสถาบันลูกโลกสีเขียวตั้งแต่เริ่มต้น และในปัจจุบัน ก็ยังมีส่วนร่วมสำคัญต่อการผลักดันประเทศไทยและโลก สู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อการตอบสนองต่อวิกฤติสิ่งแวดล้อม
“รางวัลลูกโลกสีเขียวมอบให้แก่บุคคลและชุมชนที่รักษา ดิน น้ำ ป่า ซึ่งป่าเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางธรรมชาติที่ดีที่สุด ดังนั้นการฟื้นฟู รักษา และปลูกป่าเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโลก ขณะเดียวกัน ปตท. ได้เร่งดำเนินธุรกิจ ให้มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2050 ด้วยการมุ่งเน้นในมิติต่าง ๆ 3 ด้าน คือ เร่งปรับ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต เร่งเปลี่ยน เพิ่มการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด และธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน และ เร่งปลูก เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนไทย ช่วยเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ ด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และประสานความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท. ในการเพิ่มพื้นที่ป่า รวม 2 ล้านไร่ ซึ่งหวังว่าการดำเนินงานต่าง ๆ จะช่วยแก้ไขและร่วมบรรเทาวิกฤตทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้”
พิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 21 นี้ มีผลงานที่ได้รับรางวัลรวม 44 ผลงาน ประกอบด้วยรางวัลประเภทชุมชน 8 ผลงาน รางวัลประเภทบุคคล 3 ผลงาน รางวัลประเภทกลุ่มเยาวชน จำนวน 8 ผลงาน รางวัลประเภทงานเขียน 3 ผลงาน รางวัลประเภทความเรียงเยาวชน 8 ผลงาน รางวัลประเภทสื่อมวลชน 1 ผลงาน และรางวัลประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน 13 ผลงาน โดยผลงานทั้งหมด สะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัว ปรับเปลี่ยน และจัดการกับวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม และพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน
“รางวัลลูกโลกสีเขียว” ถือกำเนิดขึ้นในปี 2542 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเป็นกำลังใจยกย่องและเผยแพร่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบุคคล กลุ่มคน และเยาวชน ให้เป็นที่รับรู้ของสังคมในวงกว้าง ด้วยความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ อาทิ องค์กรพัฒนาเอกชน นักอนุรักษ์ นักวิชาการ นักเขียน สื่อมวลชน ฯลฯ ปัจจุบันมีผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวแล้ว 807 ผลงาน
–
รายชื่อผลรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 21
มีผลงานทั้งหมด 7 ประเภท จำนวน 44 ผลงาน
ประเภทชุมชน จำนวน 8 ผลงาน
- ป่าชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง บนวิถีการจัดการที่ยั่งยืนโดยชุมชน จังหวัดเชียงราย
- ชุมชนบ้านดอยช้าง (ป่าแป๋) จังหวัดลำพูน
- กลุ่มองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ตำบลหาดเล็ก จังหวัดตราด
- ชุมชนบ้านมะม่วง จังหวัดตราด
- ชุมชนกุดหมากไฟ จังหวัดอุดรธานี
- ชุมชนป่าภูตะเภา จังหวัดชัยภูมิ
- ชุมชนบ้านต้นตาล จังหวัดนราธิวาส
- กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านอ่าวกุ้ง จังหวัดภูเก็ต
ประเภทบุคคล จำนวน 3 ผลงาน - นายบดินทร์ จันทศรีคำ จังหวัดนครนายก
- นายเจตน์ – นางเตือนใจ สมวงษ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- นายเปลื้อง ช่วยรุย จังหวัดตรัง
ประเภทกลุ่มเยาวชน จำนวน 8 ผลงาน - กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ โรงเรียนเฉลิมรัชวิทยาคม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- โรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรณ์ จังหวัดนนทบุรี
- ยุวชนต้นกล้ารักษ์ป่าชุมชนวังคก-เขาซ่าเลือด จังหวัดชัยภูมิ
- กลุ่มเยาวชนสร้างป่าเปียกด้วยฝายสร้างรายได้สู่ชุมชน โรงเรียนกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
- กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ โรงเรียนปากช่อง 2 จังหวัดนครราชสีมา
- กลุ่มเยาวชนเด็กชายขอบหัวใจรักษ์โลก โรงเรียนบ้านสำโรงเกียรติ จังหวัดศรีสะเกษ
- กลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านเกิดบ้านบากันใหญ่ จังหวัดสตูล
- โรงเรียนบ้านช่องแมว จังหวัดปัตตานี
ประเภทงานเขียน จำนวน 3 ผลงาน - หัวใจป่า โดย พล พิมพ์โพธิ์ จังหวัดสุพรรณบุรี (ชนะเลิศ)
- วรรณกรรมเยาวชน “หมอยาน้อย”
โดย นายกิติศักดิ์ ศรีแก้วบวร จังหวัดนครศรีธรรมราช (ชมเชย) - คู่มือครูสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ โดย โครงการผืนป่าบนกระดานดำ
หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (ชมเชย)
ประเภทความเรียงเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี จำนวน 2 ผลงาน
- โกปี้บ้านโตน โดย นางสาวติฟตาซานี ใจดี จังหวัดสตูล (ดีเด่น)
- หนองไผ่ ศรีวิไล ทรัพยากร โดย นายสรวิชญ์ แก้วเบี่ยง จังหวัดเพชรบูรณ์ (ชมเชย)
ประเภทความเรียงเยาวชนอายุ 16 – 25 ปี จำนวน 6 ผลงาน - บ้านโรงงาน โดย นายโสภณัฐ ปันแก้ว จังหวัดเชียงราย (ดีเด่น)
- บ้านป่าเมี่ยง โดย น.ส.ศศิธร สนั่นสุข จังหวัดเชียงราย (ดีเด่น)
- ผาวี ริมวังแดนดินถิ่นบ้านป่า โดย น.ส.นุสรณ์ วงศนิ้ว จังหวัดเชียงราย (ดีเด่น)
- ความทรงจำวัยเด็ก ที่กำลังจะหายไป ปางมดแดง
โดย น.ส.พิมพ์ประไพ มังสุไร จังหวัดพะเยา (ชมเชย) - ตุ๊ลุงนักเล่าเรื่อง (ป่าน้ำจำ)
โดย นายภาพงศ์ ประพลรัตนัง จังหวัดพะเยา (ชมเชย) - บ้านของฉัน (KUV LUB TSEV)
โดย น.ส.นิราวรรณ มังกรอัศว จังหวัดตาก (ชมเชย)
ประเภทงานสื่อมวลชน จำนวน 1 ผลงาน
Facebook : โพควา โปรดักชั่น (ชมเชย)
ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต จำนวน 13 ผลงาน
- เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำตำบลห้วยปูลิง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ชุมชนบ้านสบลาน จังหวัดเชียงใหม่
- ชุมชนบ้านส้อและบ้านเด่นพัฒนา จังหวัดน่าน
- ชุมชนบ้านร่องบอน จังหวัดเชียงราย
- กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านท่าหาด จังหวัดตราด
- กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำระยองและป่าชายเลน จังหวัดระยอง
- ชุมชนเรวดีโซน 2 จังหวัดนนทบุรี
- องค์กรป่าชุมชนบ้านนาผักก้าม-บ้านนาเจริญ จังหวัดเลย
- ชุมชนบ้านนาหว้า จังหวัดอุบลราชธานี
- ชุมชนบ้านท่าจูด จังหวัดพังงา
- กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำสายบุรีบ้านจะรังตาดง จังหวัดยะลา
- ชุมชนบ้านเขาวัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
- ชุมชนตะโหมด จังหวัดพัทลุง