รู้จักโครงสร้างราคาน้ำมันของไทย ทำไมปรับตามราคาตลาดโลก?

19081
- Advertisment-

วานนี้ (10 ก.ค. 2562) ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิดขึ้นอีก 30 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้น แก๊สโซฮอล์ E85 ปรับขึ้น 15 สตางค์ต่อลิตร โดยการปรับราคาขึ้นนั้น เพื่อสะท้อนต้นทุนที่ปรับขึ้นตามปัจจัยสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นหลัก

ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง จากกรณีอิหร่านประกาศจะตอบโต้อังกฤษที่ปฏิบัติการยึดเรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่านบริเวณช่องแคบยิบรอลตาเมื่อสัปดาห์ก่อน ประกอบกับปัจจัยด้านอุปทานที่พบว่าการผลิตของกลุ่มประเทศโอเปกลดลง ขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างรัสเซียก็มีปริมาณการผลิตในช่วงต้นเดือน ก.ค. นี้ ใกล้เคียงระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี รวมถึงปัจจัยด้านอุปสงค์ ที่สถาบันสารสนเทศด้าน พลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกในปี 2562 ลง 150,000 บาร์เรลต่อวัน

ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

ในสถานการณ์ราคาน้ำมันขาขึ้นอย่างนี้ ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC ชวนมาดูโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยกันอีกสักครั้ง เพื่อเข้าใจการเคลื่อนไหวของราคา และพอจะเบาใจได้ว่า ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น ก็มีโอกาสปรับลงได้เช่นกัน ตามสถานการณ์ตลาดอย่างที่กล่าว

- Advertisment -

จากโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยตามภาพ จะเข้าใจได้ว่า เหตุใดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทย มีการปรับขึ้น-ปรับลง กันอยู่บ่อยๆ นั่นก็เนื่องจากว่า

  1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน หรือ ราคาหน้าโรงกลั่น มีสัดส่วนต่อราคามากกว่า 65% และต้นทุนตัวนี้ ก็สะท้อนราคานำเข้าน้ำมันดิบจากตลาดโลก ที่ปรับไปตามกลไกอุปสงค์-อุปทาน (Demand-Supply) โดยประเทศไทยอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ที่เป็นตลาดอ้างอิงในภูมิภาคนี้ ซึ่งประเทศไทย แม้จะผลิตน้ำมันได้เองบางส่วน แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศมากลั่น ราคานำเข้าที่ขยับตามการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดโลก จึงสะท้อนมายังราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศด้วย
  2. นอกจากต้นทุนเนื้อน้ำมันแล้ว ยังมีปัจจัยภาษีและเงินส่งกองทุนต่างๆ ที่จัดเก็บตามวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน มีอัตราส่วนราวๆ 28% ที่มีผลต่อขายปลีกราคาน้ำมันของไทย และยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันของไทย แตกต่างจากราคาของประเทศเพื่อนบ้าน
  3. สุดท้าย ค่าการตลาด ซึ่งเป็นรายได้ของผู้ของประกอบการปั๊มน้ำมัน ซึ่งค่าการตลาดบวกภาษี เฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 6-7%
ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน สามารถอธิบายถึงโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยได้ ดังนี้

  1. ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมัน – มีองค์ประกอบย่อย 2 ส่วน คือ ราคาต้นทุนน้ำมันดิบและค่าการกลั่น ราคาหน้าโรงกลั่นนี้เองที่ เป็นตัวกำหนดราคาขึ้นลงของราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากมีอัตราส่วนโดยประมาณมากกว่า 60% ของราคา ทั้งหมด ดังนั้นหากราคาต้นทุนน้ำมันดิบและค่าการกลั่นสูงขึ้น ราคาน้ำมันก็ปรับขึ้น แต่หากราคาต้นทุนน้ำมันดิบและค่าการกลั่นต่ำลง ราคาขายปลีกก็ปรับลดลงตามไปด้วย
  2. ภาษีเทศบาล – เป็นภาษีที่ภาครัฐเก็บเพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่จังหวัดที่โรงกลั่นนั้น ๆ ตั้งอยู่
  3. ภาษีสรรพสามิต – เป็นภาษีที่ภาครัฐเก็บจากสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยที่ผลิตหรือนำเข้า โดยรัฐจะนำภาษีดังกล่าวมาเป็น งบประมาณในการพัฒนาประเทศ
  4. กองทุนน้ำมัน – เป็นกองทุนโดยภาครัฐทำหน้าที่ทั้งจัดเก็บเงินเข้ากองทุน และนำมาใช้ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในช่วงที่ ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น พุ่งสูงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นจนเกิดภาวะเงินเฟ้อ หรือ เกิดการหยุดชะงักการบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของ ประเทศ ซึ่งรัฐจะนำเงินส่วนนี้ออกมาแบ่งเบาภาระของประชาชน โดยการพยุงให้ราคาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  5. กองทุนอนุรักษ์พลังงาน – เป็นกองทุนที่เก็บโดยภาครัฐ โดยมีจุดประสงค์คล้ายกองทุนน้ำมัน แต่จะนำมาใช้เพื่อพลังงาน ประเภทอื่นด้วย โดยนอกจากการช่วยหนุนราคาพลังงานแล้ว กองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงานยังนำเงินบางส่วนมาใช้ เพื่อการพัฒนาระบบขนส่ง การสร้างถนน และการให้ทุนการศึกษาด้านพลังงานด้วย
  6. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%) – เป็นภาษีที่เก็บโดยภาครัฐจากสินค้าและบริการทุกชนิด เพื่อนำมาเป็นงบประมาณในการบริหารและพัฒนาประเทศ
  7. ค่าการตลาด – เป็นรายได้ของผู้ประกอบการปั้มน้ำมันและแบรนด์ ซึ่งค่าการตลาดนี้ได้รวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น ค่าก่อสร้างคลังน้ำมัน ค่าการขนส่ง ค่าบุคลากร เป็นต้น และค่าใช้จ่ายส่วนนี้คือตัวกำหนดราคาถูกแพงของปั้มแต่ละแบรนด์

**ขอบคุณข้อมูลอธิบายโครงสร้างราคาพลังงานจาก Facebook เพจ กระทรวงพลังงาน

Advertisment