รู้จัก “อธิป ตันติวรวงศ์” ซีอีโอ อินโนพาวเวอร์ กับมุมมองเรื่องลดคาร์บอนที่เป็น “Must have” ขององค์กรธุรกิจ
บริบทการทำธุรกิจในประเทศที่กำลังเปลี่ยนไปจากอดีต ด้วยคำสั่งซื้อซึ่งเริ่มมีเงื่อนไขว่า ต้องมี Carbon footprint ในกระบวนการผลิตสินค้า การยื่นขออนุมัติสินเชื่อที่เพิ่มทางเลือกว่า หากนำไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง หรือ Green Loan หรือหากเกี่ยวข้องกับ Supply Chain ของสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศที่มีนโยบายลดการปลดปล่อยคาร์บอน การใช้ไฟฟ้าก็อาจจะต้องมาจากพลังงานหมุนเวียนที่มีมาตรฐานสากลรองรับ เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ที่จะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ บีบบังคับให้คนทำธุรกิจเริ่มแข่งขันได้ลำบากหากไม่ปรับตัว เมื่อถามว่าแล้วใครจะมีความรู้ความสามารถและรู้จักเทคโนโลยีและนวัตกรรมดีพอที่จะช่วยภาคธุรกิจให้สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นขึ้นแล้วได้บ้าง ชื่อของ “อินโนพาวเวอร์” ภายใต้การนำของนักบริหารหนุ่มไฟแรง “อธิป ตันติวรวงศ์“ น่าจะเป็นหนึ่งในคำตอบที่ตรงกับความต้องการมากที่สุดในยามนี้
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC มีโอกาสได้สนทนาอย่างเป็นกันเองกับ “อธิป ตันติวรวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเมื่อได้รู้จักตัวตน วิธีคิดในการทำงาน และ passion ต่อภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้น ก็ยิ่งเห็นจริงตามบริบทที่กล่าวไว้ข้างต้น
รู้จักตัวตน “อธิป ตันติวรวงศ์”
อธิป ตันติวรวงศ์ ที่คนรู้จักคุ้นเคยเรียกชื่อเล่นว่า “คุณธี” ซีอีโอหนุ่มวัย 37 ปี เติบโตและใช้ชีวิตในวัยเด็กที่สหรัฐอเมริกา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) และปริญญาโทหลักสูตรสองปริญญา ได้แก่ บริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยลีแลนด์สแตนฟอร์ดจูเนียร์ (The Leland Stanford Junior University)
จุดหักเหที่ทำให้อยากจะนำความรู้ความสามารถกลับมาใช้พัฒนาประเทศ เพราะถูกคนอเมริกันถามด้วยความไม่รู้ว่าประเทศไทยที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของอธิปนั้น เวลามาโรงเรียนต้องขี่ช้างมาใช่มั๊ย ทำให้ตัวเขามองว่า ถึงเวลาที่จะต้องพาตัวเองกลับมาบ้านเกิด เพื่อทำให้ต่างชาติเข้าใจประเทศไทยอย่างถูกต้อง
“ผมเรียนที่สหรัฐอเมริกามาตั้งแต่เด็ก เป็นคนที่ชอบเรื่องเทคโนโลยี พอเจอคนที่นั่นถามผมว่าที่ประเทศไทย เวลาไปโรงเรียน ต้องขี่ช้างมาหรือเปล่า ก็เป็นจุดที่ทำให้เราเห็นว่า ที่เขามาพูดอย่างนี้ มาถามอย่างนี้ แสดงว่าเขาไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับประเทศไทยเลย ดังนั้นพอเรียนจบปริญญาตรีก็อยากกลับมาที่ไทย เพื่อจะได้นำความรู้ ความสามารถมาช่วยพัฒนาประเทศ จึงได้เริ่มงานครั้งแรกกับกลุ่ม ปตท. เพราะมีธุรกิจที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ซึ่งตรงกับที่เรามีความรู้ และด้วย performance ที่ดีในการทำงาน ก็ได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศอีก 2 ใบ คือ MBA ที่สแตนฟอร์ด รู้การบริหารธุรกิจที่เน้นไปทางด้านนวัตกรรมอีกใบ เป็นการบริหารรัฐกิจ ที่มหาวิทยาลัย ฮาวาร์ด” อธิป เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่อยากจะกลับมาทำงานที่ประเทศไทย
ในช่วงระหว่างได้ทุนเรียนระดับปริญญาโท อธิปเพิ่มพูนประสบการณ์ในการทำสตาร์ทอัพ โดยได้ร่วมงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก อย่าง Amazon.com ของสหรัฐอเมริกา Rakuten ของญี่ปุ่น และ iMENA Group ของจอร์แดน
“ประสบการณ์การทำงาน ทั้งที่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจอร์แดน ทำให้เรามองเห็น structure และ culture ของแต่ละแห่งว่าเขาทำงานกันอย่างไร ตัวเราซึ่งมี passion ด้านเทคโนโลยี่ทำให้สามารถดึงจุดแข็งของแต่ละที่มาปรับใช้ในการทำงานได้”
ในขณะที่ประสบการณ์การทำงานในกลุ่ม ปตท. ที่อธิป อยู่ในกลุ่ม talent ซึ่งมีโอกาสได้ย้ายงานไปในบริษัทลูกหลายบริษัท ทั้ง ปตท. ที่เป็นบริษัทแม่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) และ บริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) ธุรกิจคาเฟ่อเมซอน ร่วม 15 ปี ก็เหมือนเป็นส่วนเติมเต็ม ให้ “อธิป” ได้รับความไว้วางใจจากผู้ก่อตั้งบริษัท อินโนพาวเวอร์ ที่กำลังเฟ้นหาซีโอโอ เพื่อจะมานำพาองค์กรที่ตั้งใหม่ แต่มีภารกิจระดับประเทศรออยู่
“ผมค่อนข้างโชคดี ตอนที่เขามองหาตัวซีอีโอ อินโนพาวเวอร์ ใน qualification ที่เขามองหานั้น ตรงกับเราทุกข้อ ทั้งประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ ซึ่งทำเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ และมีพื้นฐานด้านพลังงาน มันตอบโจทย์พอดี สตีฟ จ๊อบ บอกว่าเราไม่สามารถที่จะต่อจุดไปข้างหน้าได้ เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร แต่เราสามารถที่จะต่อจุดไปข้างหลังได้ พอเรามองย้อนกลับไป ประสบการณ์เรา เหมือนเป็นการปูทาง วางให้เรามาถึงจุดนี้ได้พอดี” อธิปเล่าถึงการได้รับความไว้วางใจจากผู้ก่อตั้งอินโนพาวเวอร์ให้มานั่งตำแหน่ง ซีอีโอ ตั้งแต่เริ่มต้น
ทำไมต้อง อินโนพาวเวอร์ ?
การที่ประเทศไทยไป commit กับประชาคมโลก ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 กับการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 ภาคพลังงานและภาคการขนส่งถือเป็น sector ที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงที่สุด EGAT Group ซึ่งประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) ซึ่งล้วนแต่ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอน จึงเห็นว่าควรจะต้องมีบริษัทที่มีความคล่องตัว มีความยืดหยุ่นสูง เข้าใจเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาช่วยสร้างพันธมิตร เพื่อขับเคลื่อนภารกิจการปรับลดคาร์บอนของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย จึงตั้งเป็นบริษัท อินโนพาวเวอร์ ที่มีวงเงินลงทุนรวม 2,960 ล้านบาท โดย กฟผ. ถือหุ้นมากที่สุดร้อยละ 40 บริษัท ราช กรุ๊ป RATCH ถือหุ้นร้อยละ 30 และ EGCO ถือหุ้นร้อยละ 30
“ผู้ถือหุ้นมองอินโนพาวเวอร์ เหมือนเป็นตัว catalyze การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย เพราะเรามีความเร็ว ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี มีการสร้างเครือข่าย “พันธมิตรพิชิตคาร์บอน” เพราะเราคนเดียวทำได้แค่ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าขยายผลให้ภาคธุรกิจมีความเข้าใจว่าสิ่งที่เราไปช่วยเขานั้น เป็น solution ที่ตอบโจทย์การทำธุรกิจ ช่วยดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม และทำได้อย่างยั่งยืน ก็น่าจะตรงตามวัตถุประสงค์ของการตั้ง อินโนพาวเวอร์ ขึ้นมา” อธิป ตอบคำถามเบื้องต้นว่าทำไมเรื่องการลดคาร์บอนต้องมีอินโนพาวเวอร์เข้าไปช่วย
อธิป เล่าถึงการเตรียมความพร้อมของอินโนพาวเวอร์นับตั้งแต่วันที่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 แล้วว่า ผู้ถือหุ้นตั้งเป้าไว้ว่า ในเฟสแรก 3 ปี บริษัทจะต้องเริ่มมีผลกำไร และสร้างอิมแพคกระตุ้นความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งมาถึงตอนนี้ ถือว่าการบริหารอินโนพาวเวอร์บรรลุเป้าหมายเฟสแรกได้ก่อนครบ 3 ปี โดยบริษัทมีผลกำไรต่อเนื่องถึงเดือนล่าสุดเป็นเดือนที่ 8 ในปีแรกของการดำเนินการสามารถช่วยปรับลดคาร์บอนได้แล้วกว่า 1 ล้านตันแล้ว และปัจจุบันสามารถสร้างพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้เกือบ 100 ราย
สำหรับก้าวต่อไป อธิปบอกว่ากำลังขยายเครือข่ายจากเดิมที่มีเฉพาะหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน ให้ครอบคลุมไปถึงประชาชนทุกคนที่ใช้เทคโนโลยีของบริษัทเป็นกลไกช่วยสร้างแรงจูงใจให้ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งภายในปีนี้จะมี 2-3 โปรเจ็คต์
ภารกิจลดคาร์บอน เป็นเรื่อง “Must have” ของภาคธุรกิจ
อธิป ย้ำว่า การปรับลดคาร์บอนของภาคธุรกิจในตอนนี้ต้องใช้คำว่า “Must have” คือเป็นสิ่งที่ต้องทำ หากต้องการอยู่รอด ไม่ใช่ “Nice to have” หรือ สิ่งที่ควรทำ หรือยังประวิงเวลาไปได้ เพราะมาตรการต่างๆ ที่จะใช้กีดกันทางการค้าสำหรับผู้ที่ยังผลิตสินค้าและปล่อยคาร์บอนจะยิ่งเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมยกตัวอย่างบริษัทด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ระดับโลกอย่าง Apple
“ผมค่อนข้างเป็นห่วงภาคธุรกิจที่ยังไม่ตื่นตัวกับเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอน เพราะตอนนี้มันไม่ใช่ nice to have แล้ว แต่เป็น must have ที่ได้เริ่มแล้วในภาคอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Apple ที่เราใช้กันทั้งโน๊ตบุ้ค ไอแพด คนที่ผลิต hard drive ที่อยู่ในอุปกรณ์ ต้องผลิตโดยใช้พลังงานสะอาด 100% แปลว่า ไฟฟ้าที่ใช้จะมีเฉพาะแค่โซลาร์เซลล์อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีแบตเตอรี่มาช่วยด้วยเพื่อให้ผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปในตลาดพรีเมี่ยมอย่างนี้ได้ รัฐก็ต้องเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ผลิต ต้องใช้พลังงานสะอาดกันทั้ง value chain”
“ตลาดกำลังจะเปลี่ยนไปแบบนี้ ถ้าคุณไม่ meet carbon target ที่ผู้ซื้อตั้งเป้าไว้ คุณอาจจะขายของไม่ได้ เรื่องที่ต้องปรับลดคาร์บอน ไม่ใช่เรื่องของแฟชั่นหรือเรื่องของเทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว และแนวโน้มจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ” อธิป ฉายภาพที่กำลังเกิดขึ้นในบาง sector ให้เห็น
อินโนพาวเวอร์พร้อมเป็นตัวช่วยเรื่องลดคาร์บอนทุกระดับ ทั้ง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน
อธิป ให้คำแนะนำสำหรับคนที่เริ่มตื่นตัวและมองเห็นความสำคัญของการปรับลดคาร์บอน แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร โดยสามารถจะใช้สโลแกนว่า “นึกถึงการลดคาร์บอน นึกถึงอินโนพาวเวอร์” ได้เลย
“เปรียบเหมือนการไปหาหมอ การที่หมอจะวินิจฉัยโรคได้ ก็ต้องขอเจาะเลือดตรวจดูสุขภาพก่อน เพื่อที่จะวางแนวทางการักษาได้ สำหรับผู้ที่ต้องการจะปรับลดคาร์บอนในภาคธุรกิจ เราก็จะมีเครื่องที่จะช่วยตรวจให้รู้ว่าในกระบวนการทำธุรกิจนั้นมีการปล่อยคาร์บอนอยู่เท่าไหร่ แล้วจะลดได้อย่างไร ต้องใช้เทคโนโลยีแบบไหนเข้าไปช่วย ยกตัวอย่างเรามี smart motor ที่ไปเพิ่มประสิทธิภาพให้ใช้ไฟน้อยลง ถ้าใช้ไฟน้อยลง การปล่อยคาร์บอนก็ควรจะต้องลดลง และชี้ให้เห็นถึงความคุ้มค่าที่จะต้องปรับเปลี่ยนด้วยข้อมูล หรือ data ในบางกรณีเราเป็นผู้ลงทุนให้ด้วยซ้ำ เรามีคนที่มีความรู้ ความเข้าใจ มี passion ในเรื่องนี้ ที่จะให้คำปรึกษา” อธิปอธิบาย
สำหรับภารกิจการลดการปล่อยคาร์บอนนั้น อธิปมองว่า เป็น mission ที่ยิ่งใหญ่สำหรับอินโนพาวเวอร์ ที่จะช่วยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้
“เราสร้างคน สร้างวัฒนธรรมองค์กร ต้องหาคนที่มีความคิดคล้ายๆ กันกับเรามาเสริมทีม ขับเคลื่อนในลักษณะเป็นพันธมิตร เรื่องคาร์บอนเป็นเรื่องของทุกคน ไม่สามารถที่จะทำคนเดียวได้ เราจึงพยายามที่จะขยายเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ไปจนถึงประชาชน”
“อินโนพาวเวอร์ เราเป็น one stop service ที่ให้คำแนะนำเรื่องการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทำอย่างไรให้เขาใช้ชีวิตอย่างปกติ แต่มี option ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมง่ายขึ้น มีคลังความรู้ ติดต่อ มี event ช่วยอธิบายให้คนหมู่มากเข้าใจ”
มองภาพรวมประเทศไทย ยังมีจุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายที่สอดรับกับเทรนด์โลก และจุดอ่อน เรื่องทัศนคติ ในการทำงานด้านนวัตกรรม
ด้วยประสบการณ์ของอธิป ทำให้มองเห็นถึงจุดแข็งที่สร้างความได้เปรียบให้กับประเทศเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่เป็นคู่แข่ง คือ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เช่น การมีโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและการมีทรัพยากรในอ่าวไทย ซึ่งสามารถต่อยอดได้ เช่นหากจะไปสู่เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ก็จะสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานบางส่วนร่วมกันได้ โดยที่ไม่มี cost เพิ่มเติม
และจุดแข็งอีกเรื่องคือการเตรียมพร้อมด้านนโยบายของภาครัฐ เช่น นโยบายไฟฟ้าสีเขียว หรือ Utility Green Tariff -UGT ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ โดยที่มี Renewable Energy Certificate (REC) หรือ ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ได้มาตรฐานสากล เป็นกลไกรองรับ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นจุดอ่อนสำหรับประเทศไทย เทียบกับประเทศที่ก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีเรื่องการลดคาร์บอน คือ การที่เรามองความผิดพลาดล้มเหลวในการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แล้วช่วยกันแชร์ประสบการณ์ความผิดพลาดนั้น โดยอธิปมองว่า หากทัศนคติเรื่องนี้ถูกปรับเปลี่ยน จะเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ เพราะการทำอะไรใหม่ๆ จะไม่ให้ผิดพลาดเลยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่เราสามารถที่จะบริหารโดยจำกัดความผิดพลาดนั้นได้
“เวลาทำเรื่องนวัตกรรม เราก็จะต้องมีแผนงาน มี milestone เล็กๆ ย่อยๆ ระหว่างนั้น ในแต่ละ milestone เราก็จะมีงบประมาณให้เป็นก้อนๆไป ถ้าทำก้อนแรกจบได้จึงจะมีก้อนใหม่ให้ไปทำต่อ เพราะฉะนั้นมันจึงมีการจำกัดความเสี่ยง วิธีนี้ทำให้เขาตื่นตัว และเป็นเจ้าของโปรเจ็คต์ในการทำต่อ ความผิดพลาดจากการทำอะไรใหม่ๆ สำหรับองค์กรที่ทำเรื่องนวัตกรรม เขาต้องสนับสนุนด้วยซ้ำว่า ที่คุณทำผิดไปนั้น สิ่งที่คุณได้เรียนรู้ ช่วยมาแชร์หน่อยว่าคืออะไร คนอื่นๆ ในองค์กรจะได้ไม่ทำผิดซ้ำ หรือนำไปต่อยอดได้” อธิป ให้มุมมองต่อการทำงานที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ซึ่งประเทศไทยยังมีบางทัศนคติที่เป็นจุดอ่อน
ทิ้งท้ายด้วย สมดุลของชีวิตกับงาน (Work life balance)
องค์กรขนาดเล็ก พนักงานเพียง 30 คนแต่มีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า อธิป จัดสรรเวลาและสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับงานอย่างไร ซึ่งได้รับคำตอบที่ทำให้ยิ้มที่มุมปากได้ว่า เขาผสมผสานให้มันไปด้วยกันได้ เพราะออกแบบองค์กรให้มีการทำงานอย่างยืดหยุ่น เน้นที่ความสำเร็จของงานที่มอบหมายตามตารางเวลา มากกว่าการตอกบัตรเข้า-ออกตามเวลา
“ผมมองว่าเวลางานกับเวลาส่วนตัว มันเป็น integration ไม่ได้แยกจากกัน หากเราบรรลุในงานที่ทำ มี freedom มีความสุข เราจะทำงานได้ดีขึ้น ที่อินโนพาวเวอร์เราไม่บังคับว่าต้องเข้างานแปดโมง เราให้อิสระกับพนักงาน แต่ต้องทำงานให้เสร็จตามแผน มีความยืดหยุ่น แต่ต้องให้เข้ามาออฟฟิศ เพื่อให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบ่อยๆ จะได้เกิดไอเดียใหม่ๆ ไม่ให้ work from anywhere ทุกวัน พนักงานทุกคนสามารถปรึกษาผมได้ทั้งเรื่องส่วนตัวที่จะมีผลต่องาน ทั้งในและนอกเวลางาน”
“เราสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับงาน ช่วยกันดูตั้งแต่ตอนคัดเลือกคน ผมตั้งคำถามกับทุกคนในตอนคัดเลือกว่าเขาจะเข้ามาช่วย contribute อินโนพาวเวอร์ ได้อย่างไรได้บ้าง แต่ถ้าเขาถามกลับว่าอินโนพาวเวอร์จะให้อะไรกับเขาบ้าง เราอาจจะอยู่ในจุดที่ยังไม่พร้อมซัพพอร์ตเขา เราอยากจะได้ทีมงานที่จะช่วยสร้างอิมแพค เป็นการเริ่มต้นทำงานที่ดีไปด้วยกัน เพราะเรามุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและพัฒนานวัตกรรม สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้น” อธิป กล่าวทิ้งท้าย