บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ RATCH ยังไม่ยอมเซ็นสัญญาซื้อก๊าซจาก ปตท.เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400เมกะวัตต์ เผยรอพิจารณาเปรียบเทียบ 3 แนวทาง ทั้ง ลงนามกับ ปตท. ลงนามกับรายใหม่ และนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเอง มั่นใจมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) กับกฟผ.อยู่ในมือแล้ว โครงการไม่มีทางล้ม
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ RATCHเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ กับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) แต่อย่างใด เนื่องจากยังอยู่ระหว่างเจรจาด้านราคา เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังมีแนวทางอื่นๆที่จะจัดหาก๊าซฯ เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าหินกองด้วย นอกเหนือจากซื้อกับ ปตท. เช่น การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)เอง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม หรือ การซื้อก๊าซฯจากบริษัทอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ราคาก๊าซฯที่ดีที่สุดและเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซ LNG และให้ราคาค่าไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี ไม่เกิน 3.576 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เจรจากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพื่อขอขยายเวลาการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับคู่สัญญา โดยไม่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการภายใน 30 วันหลังจาก บริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด(HKP) ซึ่งเป็นบริษัทลูกลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ไปเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับสาเหตุที่ต้องใช้เวลาเจรจาราคาก๊าซฯ กับ ปตท. เนื่องจากก๊าซฯ ของ ปตท.มีทั้งการนำเข้า LNG และก๊าซฯจากเมียนมา ซึ่งมีค่าความร้อนต่างกัน ทำให้โรงไฟฟ้าจะต้องปรับเครื่องผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสมกับคุณภาพก๊าซฯ จึงมีผลต่อต้นทุนโรงไฟฟ้าให้สูงขึ้น ดังนั้นต้องเจรจาราคาก๊าซฯเพื่อให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงและเป็นราคาที่เหมาะสมที่สุด
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะไม่มีการยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาระบุว่าสัญญาที่ลงนามไปแล้วไม่สามารถยกเลิกได้ และราคาค่าไฟฟ้าที่บริษัทฯเสนอไปนั้นก็เป็นราคาที่ต่ำสุดที่เคยสร้างโรงไฟฟ้ามา ซึ่งราคาจะต้องเป็นไปตามสัญญา PPA ที่ลงนามไว้แล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้โรงไฟฟ้าหินกอง จะช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ได้เร็วที่สุด เนื่องจากมีกำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้เร็วกว่าโรงไฟฟ้าอื่นๆ ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) โดยกำหนดผลิตเข้าระบบ(COD)ในปี 2567 ส่วนผู้ร่วมทุนโรงไฟฟ้าหินกองนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงหลัก ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 เครื่อง เครื่องละ 700 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2567 และปี 2568 ตามลำดับ ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม