ราช กรุ๊ป ยื่นหนังสือถึงกฟผ. ลุ้นนำเข้า LNG เองป้อนโรงไฟฟ้าหินกอง 1,400 MW

761
- Advertisment-

ราช กรุ๊ป ยื่นหนังสือให้กฟผ.พิจารณา ราคา LNG กรณีที่บริษัทจะเป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงเองสำหรับโรงไฟฟ้าหินกอง กำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นราคาที่สามารถแข่งขันได้  ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ปิดโอกาสการเจรจากับ ปตท.ที่เป็นอีกทางเลือกในการจัดหาก๊าซให้  โดยรอความชัดเจนนโยบายโครงสร้างราคาก๊าซจากกระทรวงพลังงาน และการตัดสินใจของ กฟผ.และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดหาก๊าซธรรมชาติป้อนให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกองชุดที่ 1และ 2 (โรงไฟฟ้าภาคตะวันตก) ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ว่า บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะนำเข้าก๊าซฯเอง หรือซื้อก๊าซฯจากบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ว่าแนวทางใดจะได้ประโยชน์สูงสุดและทำให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกที่สุด

โดยล่าสุดได้ส่งร่างสัญญาซื้อขายก๊าซฯให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้พิจารณาแล้ว ในกรณีที่ ทางราช กรุ๊ป จะเป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงมาใช้ในโรงไฟฟ้าเอง โดยเสนอเงื่อนไขด้านราคาที่พิจารณาจากราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ถูกลง และเป็นราคาที่สามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นๆในประเทศได้

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามจะต้องรอให้กระทรวงพลังงานสรุปโครงสร้างราคาก๊าซฯ ให้เรียบร้อยก่อนว่า หากเปิดเสรีนำเข้าก๊าซฯแล้ว ราคาก๊าซฯที่บริษัทนำเข้าจะให้นำมาผูกรวมเป็นสูตรในราคาก๊าซ หรือ Gas Price Pooling (เป็นการคำนวณต้นทุนราคาก๊าซฯ โดยรวมราคาก๊าซจากอ่าวไทย+ก๊าซจากเมียนมา + LNG นำเข้าตามสัญญาระยะยาว) หรือจะให้แยกเป็นอีกราคา เพราะจะมีผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าได้

โดยเรื่องดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ไปศึกษาความชัดเจน และคาดว่าจะเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) พิจารณาได้ในเดือน พ.ค.- มิ.ย.2563 นี้

สำหรับการตัดสินใจว่า ราช กรุ๊ป จะสามารถนำเข้าก๊าซฯ มาใช้เองได้หรือไม่ เป็นอำนาจของ กฟผ.และ กกพ. ที่จะพิจารณาร่วมกันว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศหรือไม่ โดยบริษัทฯเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น

อย่างไรก็ตามในอีกทางหนึ่ง บริษัทฯ ก็ยังอยู่ระหว่างเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซฯกับ ปตท. แม้จะยังไม่ได้ให้คำตอบกับปตท.ภายในเดือนเม.ย.2563 ที่ผ่านมาตามที่เคยระบุไว้ แต่ยืนยันว่ายังมีเวลาให้พิจารณาได้อีกนาน ก่อนโรงไฟฟ้าหินกองจะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี  2567 และ 2568

โดยปัจจุบันการเจรจาซื้อขายก๊าซฯ กับ ปตท. ก็ยังติดปัญหาการเจรจารายละเอียดเรื่องค่าความร้อนของก๊าซฯ ที่จะป้อนให้กับโรงไฟฟ้าหินกองทั้ง 2 โรง เนื่องจากโรงไฟฟ้าหินกองอยู่ในภาคตะวันตก ซึ่งปัจจุบัน ปตท.ยังมีสัญญาซื้อก๊าซฯจากเมียนมา ที่คาดว่าจะใช้ได้อีกแค่ 10 ปีเท่านั้น และก๊าซฯจากเมียนมา ก็มาจากทั้งแหล่งยาดานา เยตากุนและซอติก้า ซึ่งมีค่าความร้อนที่แตกต่างกัน ดังนั้นบริษัทฯต้องการความชัดเจนในเรื่องค่าความร้อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อโรงไฟฟ้าหินกองซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ และ เพื่อไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายในการปรับจูนเครื่องจักรผลิตไฟฟ้ามาก

สำหรับผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2563
รายได้จากส่วนแบ่งกำไรกิจการร่วมทุนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีสัดส่วนร้อยละ 32.9 ของรายได้รวม  ปัจจัยสำคัญมาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาที่มีการเดินเครื่องเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซน้ำน้อย และโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ที่จะเริ่มรับรู้รายได้เต็มปีในปีนี้

โดยรายได้รวม มีจำนวน 4,506.78 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากการขายและบริการและรายได้ตามสัญญาเช่าการเงินของโรงไฟฟ้าที่บริษัทฯ ควบคุมจำนวน 2,925.01 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.9 ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนจำนวน 1,480.64 ล้านบาท และรายได้จากดอกเบี้ยและอื่นๆ จำนวน 101.13 ล้านบาท

ฐานะการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 103,448.31 ล้านบาท หนี้สินจำนวน 44,440.97 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 59,007.34 ล้านบาท ศักยภาพทางการเงินของบริษัทฯ ในการจัดหาเงินเพื่อขยายการลงทุนให้บรรลุเป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2566 สะท้อนจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน 0.46 เท่า อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (DSCR) 7.73 เท่า และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น 10.66%

Advertisment