ราช กรุ๊ป จับมือ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เดินหน้าโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 1 หมื่นไร่

390
- Advertisment-

บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จับมือ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงนาม MOU “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในพื้นที่ป่าชุมชน 10,000 ไร่ มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน 

วันที่ 12 มี.ค. 2566 บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU)ว่าด้วยความร่วมมือโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พื้นที่ป่าชุมชน 10,000 ไร่ โดยจะร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนการจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่า ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมและการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานจัดการคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นแนวทางที่ 3 ของกลยุทธ์รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของบริษัทฯ ในเบื้องต้น บริษัทฯ มีแผนงานที่จะจัดการคาร์บอนเครติตจากป่าไม้ประมาณ 50,000 ไร่ ภายในปี 2568 สำหรับความร่วมมือกันครั้งนี้ ได้ดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งบริษัทฯ ได้สนับสนุนการจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชน จำนวน 1,000 ไร่ โครงการนี้นอกจากประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตแล้ว ยังช่วยต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชนในการจัดการป่าอย่างยั่งยืนตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 13 ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายที่ 15 การปกป้องฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน รวมทั้งการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน ด้วย

- Advertisment -

นายธนพงศ์ ดวงมณี ผู้อำนวยการด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์  กล่าวว่า  ภายใต้โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัทฯ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะร่วมกันดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 10,000 ไร่ด้วยการพัฒนาศักยภาพชุมชน ในการรักษา ฟื้นฟูระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติป่าชุมชน และสนับสนุนชุมชนในการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (“อบก.”) เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งไม่เพียงช่วยสร้างรายได้แก่ชุมชนเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลป่าให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

“โครงการรักษาป่า  10,000 ไร่ คาดว่าจะได้คาร์บอนเครดิต 3,000-5,000 ตันต่อปี ใช้งบลงทุน 2,700 บาทต่อไร่ต่อ 3 ปี และเป็นป่าที่อยู่ในพื้นที่ถูกกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ทั้งนี้มูลนิธิมีเป้าหมายที่จะรักษาป่าให้ถึง 1 แสนไร่ในปีนี้ และเพิ่มเป็น 6 ล้านไร่ในอีก 10 ปีข้างหน้า ”

Advertisment