ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นหลังสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ มีแนวโน้มผ่อนคลาย และจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

33
- Advertisment-

หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสถานการณ์ตลาดน้ำมัน ประจำสัปดาห์วันที่ 21 – 25 เม.ย. 68 และแนวโน้มในสัปดาห์วันที่ 28 เม.ย. – 2 พ.ค. 68 โดยระบุว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้น หลังสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีแนวโน้มผ่อนคลายลง และจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

วันที่ 23 เม.ย. 68 รมว. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ นาย Scott Bessent กล่าวว่าสงครามภาษีกับจีนจะไม่ยกระดับไปมากกว่าระดับปัจจุบัน และมีแนวโน้มผ่อนคลายลงในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าของจีนจาก 145% มาอยู่ที่ 50-65% ของมูลค่านำเข้า

รัฐบาลจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ โดยเพิ่มเพดานขาดดุลงบประมาณจากเดิม 3% เป็น 4% ของ GDP ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีการอนุมัติพันธบัตรพิเศษของรัฐบาลกลาง พันธบัตรพิเศษของรัฐบาลท้องถิ่น และวงเงินกระตุ้นการบริโภค อาทิ อุดหนุนราคารถยนต์พลังงานใหม่ (New Energy Vehicle: NEV) เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน การท่องเที่ยวและบริการ สวัสดิการประกันสังคม และภาคอสังหาริมทรัพย์ในการตัดหนี้เสียและเติมสินเชื่อโครงการใหม่ วงเงินรวม 7.2 ล้านล้านหยวน (9.86 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

- Advertisment -

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกในปี 2568 และ 2569 มาอยู่ที่ +2.8% และ +3% จากปีก่อนหน้า ตามลำดับ (เดิมคาดการณ์ที่ +3.3% จากปีก่อนหน้า ในปี 2568 และ 2569) เนื่องจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ฉุดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการเกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานการผลิต รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปที่ยังคงอยู่ในระดับสูงทำให้ภาคการเงินตึงตัว กดดันภาคการลงทุนชะลอตัวกว่าคาดการณ์ ทั้งนี้ IMF รายงาน GDP ของโลก ในปี 2567 อยู่ที่ +3.1% จากปีก่อนหน้า

กระทรวงพลังงานคาซัคสถานประกาศจะกำหนดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยพิจารณาผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก แทนที่จะผลิตตามโควตาที่ OPEC+ จัดสรร โดยแหล่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่ของประเทศได้ให้สัมปทานกับบริษัทข้ามชาติไปแล้ว ทั้งนี้ คาซัคสถานเป็นสมาชิก OPEC+ ที่ผลิตน้ำมันดิบเกินโควตามากที่สุด อยู่ที่ 1.82 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในวันที่ 1-13 เม.ย. 68 (โควตาอยู่ที่ 1.473 ล้านบาร์เรลต่อวัน สำหรับเดือน เม.ย. 68)

Advertisment