ราคาน้ำมันขาขึ้นและการเพิ่มสัดส่วนแหล่งบงกช หนุน ปตท.สผ. กำไรกว่าหมื่นล้านใน Q3

219
- Advertisment-

ปตท.สผ. เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ของปี 2561 เป็นไปตามเป้าหมาย มีกำไรสุทธิที่ 315 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เทียบเท่า 10,401 ล้านบาท พลิกมีกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 % เทียบขาดทุนในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มสัดส่วนในแหล่งบงกชในไตรมาสที่ผ่านมา พร้อมเร่งพัฒนาโครงการ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ (M&A) และตั้งเป้าลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 โดยพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ (net income) 315 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 10,401 ล้านบาท เปรียบเทียบกับการขาดทุนสุทธิจำนวน 264 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  หรือ เทียบเท่า 8,682 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

โดยราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยปรับตัวสูงเป็น 47.67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ สูงขึ้นจาก 38.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ประกอบกับปริมาณการขายเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 304,940 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จาก 298,139 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา

- Advertisment -

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือน ปตท.สผ. มีรายได้รวม 3,960 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เทียบเท่า 127,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จาก 3,252 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 111,430 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีแรงสนับสนุนหลักมาจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ย และปริมาณขายเฉลี่ยที่สูงขึ้น โดยมีกำไรสุทธิรอบ 9 เดือน รวม 851  ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เทียบเท่า 27,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีกำไร 305 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 11,138 ล้านบาท เนื่องจากมีการรับรู้รายการด้อยค่าสินทรัพย์

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จจากการดำเนินแผนกลยุทธ์ในการเน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์และมีความเสี่ยงต่ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากความสำเร็จในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในแหล่งบงกชซึ่งเป็นโครงการหลักของ ปตท.สผ. ส่งผลให้ปริมาณการขายและกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นทันที และ ปตท.สผ. ยังมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการ และขยายการลงทุนในแหล่งสำรวจปิโตรเลียมที่มีศักยภาพสูง ทั้งในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง

นอกจากนั้น ยังปรับตัวเพื่อรับมือกับภาพธุรกิจพลังงานที่มีความท้าทายทางธุรกิจที่ด้วยแนวทาง Transformation เพื่อให้องค์กรมีความพร้อม และเดินหน้าต่อยอดการลงทุน เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ E&P ที่มีตลาดรองรับ เช่น Gas to Power ในขณะเดียวกันก็ศึกษาโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ และพลังงานทางเลือก โดย ปตท.สผ. มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมรองรับแผนการลงทุนตามแผนงาน รวมถึงรองรับค่าใช้จ่ายเพื่อเร่งพัฒนาโครงการต่าง ๆ การเข้าซื้อกิจการ (M&A) และต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของบริษัท

สำหรับการประมูลแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณนั้น ปตท.สผ. ได้ยื่นประมูลเองในแหล่งบงกช ส่วนแหล่งเอราวัณ ปตท.สผ. ได้เข้าร่วมประมูลกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ลงทุนในแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย จึงมีความเข้าใจพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างดี โดย ปตท.สผ. มีความพร้อมในการเป็นผู้ดำเนินการในทั้งสองแหล่ง ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการประมูลในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เร่งรัดการพัฒนาโครงการที่อยู่ระหว่างรอการตัดสินใจขั้นสุดท้ายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญตามแผนกลยุทธ์ของ ปตท.สผ. ที่มีความคืบหน้าอย่างมากทั้งในการเตรียมการก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบก และการสรุปสัญญาซื้อขายระยะยาว (Sales and Purchase Agreement: SPA) กับผู้ซื้อรายต่าง ๆ เพื่อผลักดัน การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision: FID) ตามเป้าหมายภายในครึ่งแรกของปี 2562 โดยผู้ร่วมทุนในโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ได้มีการลงนามเพิ่มในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวกับบริษัท โทโฮกุ อิเล็กทริก พาวเวอร์ (Tohoku Electric Power) ในปริมาณ 280,000 ตันต่อปี นอกเหนือจากที่มีการลงนามกับบริษัท เอเล็กทริซิเต้ เดอ ฟรองซ์  (Électricité  de France, S.A.) หรือ EDF ในปริมาณ 1,200,000 ตันต่อปี โดยทั้งนี้คาดว่าโครงการจะสามารถเริ่มการผลิตได้ภายในปี 2566

Advertisment