รัฐเล็งเลิกตั้งเกณฑ์สำรองไฟฟ้า​ แก้ปัญหาสำรองล้นระบบ​

2747
N2032
- Advertisment-

รัฐเล็งเลิกเกณฑ์สำรองไฟฟ้า​ 15% โดยหันมาเน้นใช้เกณฑ์ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าแทน​ ซึ่งจะทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงเกือบ 50% ในปัจจุบัน จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปในมุมมองของรัฐ​ที่จะเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใหม่ๆเข้าระบบ​ภายใต้แผน​พัฒนา​กำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่หรือ​ แผนPDP2022

ที่ผ่านมาประเด็นการรับซื้อไฟฟ้าเข้ามาในระบบจนทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามีมากเกินกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงมาก​จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์​ว่า​เป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เป็นภาระที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องร่วมจ่ายอย่างไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ต.ค.2563 ที่ผ่านมา มีข้อมูลคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ปี 2563 อยู่ที่​ 32,732 เมกะวัตต์ แต่พีคไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเดือน มี.ค. 2563 อยู่ที่ 28,636 เมกะวัตต์ ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ซึ่งจะเข้าระบบปี 2563 มีมากถึง 51,943 เมกะวัตต์ สะท้อนให้เห็นว่ามีกำลังผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่ในระบบมากถึง 23,307 เมกะวัตต์

- Advertisment -

เมื่อปลายเดือน​ ต.ค.2563​ ที่ผ่านมา แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ก็เปิดแถลงข่าวเสนอแนะหลายแนวทางแก้ปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงล้นระบบ อาทิ การให้รัฐเจรจาโรงไฟฟ้าของเอกชนที่ได้รับอนุมัติโดยมิได้ผ่านการประมูล (โรงไฟฟ้าหินกอง 1,400 เมกะวัตต์) ให้ชะลอการลงทุนและเลื่อนกำหนดการเข้าสู่ระบบ (COD) พร้อมปรับแผน PDP ฉบับใหม่​ ให้สอดคล้องทันต่อสถานการณ์ ไม่ให้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA ) กับโรงไฟฟ้าใหม่ที่เป็นแบบ Firm นอกเหนือจากที่ได้มีการลงนามไปแล้ว

โดยระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าอยู่ในระดับสูง​เพราะในทศวรรษที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มโดยมิได้ทบทวนแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าในระยะยาวที่ลดลงอย่างเพียงพอ อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหลายช่วง รวมทั้งการคาดการณ์ที่ต่ำเกินไปของการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบใช้เอง (Prosumer) ของภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ผนวกกับสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศยังจะอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องเพราะตั้งแต่ ปี2565 เป็นต้นไป จะยังมีโรงไฟฟ้าใหม่ของเอกชนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวไปแล้ว จะจ่ายไฟเข้าสู่ระบบอีกในขณะที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะฟื้นตัวกลับมาเท่ากับพีคไฟฟ้าเมื่อปี​ 2562​ ในอีก1-2 ปีข้างหน้า

” ปกติตามหลักเศรษฐศาสตร์ สินค้าใดที่ซัพพลายมีสูงกว่า ดีมานด์ ราคาควรจะลดลง แต่กรณีของไฟฟ้า จะเป็นตรงกันข้าม เพราะมีการตกลงราคากันไว้เป็นสัญญาระยะยาว ดังนั้น ยิ่งมีซัพพลายมากกว่าดีมานด์ ก็ยิ่งเป็นต้นทุนแฝงในค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งเป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้า ” หนึ่งในแกนนำของ​ERS​เคยระบุเอาไว้​

ประเด็นปัญหา​สำรองไฟฟ้าที่ล้นระบบและเป็นภาระต่อค่าไฟฟ้ายังถูกฝ่ายค้านหยิบยกมาอภิปรายในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี​ เมื่อเดือน ก.พ.64​ ที่ผ่านมา​ ที่ทำให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์​ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องลุกขึ้นมาชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี​

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน​ (กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน วันที่ 5 มี.ค. 2564​ นี้จะมีวาระการพิจารณาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบ​ ตามที่คณะทำงานชุดที่มีนายพรชัย​ รุจิประภา​ อดีตปลัดกระทรวงพลังงานนำเสนอ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน​ กล่าวว่า​ หนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาสำรองไฟฟ้า​คือ การยกเลิกเกณฑ์มาตรฐานสำรองไฟฟ้าไม่เกิน 15% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ และหันไปใช้เกณฑ์ความมั่นคงไฟฟ้าที่จะให้ความสำคัญกับการยอมที่จะให้เกิดไฟฟ้าดับได้แค่ไหน​ซึ่งเป็นเกณฑ์เดียวกับที่ทั่วโลกใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากพลังงานหมุนเวียนทั้งโซลาร์เซลล์ พลังงานลม​ ชีวมวล​ ชีวภาพ​ ที่ไม่มีเสถียรภาพในการจ่ายไฟฟ้าให้กับระบบจึงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เอาไว้คอยแบคอัพระบบ

โดยคาดว่าเกณฑ์ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจะถูกให้ความสำคัญในการจัด
ทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับใหม่ หรือ PDP 2022 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจริงหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย รวมถึงปัจจัยอื่นๆที่จะมากระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าให้สูงขึ้น เช่น การเติบโตของ EEC ,ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ,รถไฟฟ้าความเร็วสูง และ เทคโนโลยี 5G เป็นต้น ที่คาดว่าจะเสนอ “คณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ” ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้ในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2564 นี้ จากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ตามกำหนดการ PDP2022 จะต้องแล้วเสร็จภายในปี 2564 นี้และจะเริ่มใช้ในปี 2565 เป็นต้นไป

ดังนั้นสำรองไฟฟ้าที่อาจสูงมากกว่า 30% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ จะไม่เป็นประเด็นปัญหาในมุมมองรัฐโดยจะคำนึงถึงเกณฑ์ความมั่นคงระบบไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งในอนาคตอาจจำเป็นจะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าโรงใหม่เพิ่มเข้ามาเพื่อเสริมให้ระบบมีความมั่นคงมากขึ้นก็ได้​

Advertisment