รวมผลประกอบการไตรมาสแรกในปี 2567 ของธุรกิจน้ำมันและโรงกลั่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้ง TOP OR บางจาก SPRC IRPC ล้วนมีรายได้และผลกำไรที่เติบโตขึ้น สะท้อนถึงภาพรวมที่ดีของอุตสาหกรรมน้ำมันและโรงกลั่นในประเทศ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รวบรวมข้อมูลผลประกอบการไตรมาสแรกของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันซึ่งแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่น่าสนใจ มีดังนี้
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 มีกำไรสุทธิ 5,863 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินกับน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังได้รับแรงหนุนจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นในประเทศสหรัฐฯ ส่งผลให้อุปทานน้ำมันเบนซินเพื่อส่งออกตึงตัว รวมถึงส่วนต่างราคาน้ำมันดิบที่ใช้กลั่นจริงเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ (Crude Premium) ปรับตัวลดลง หลังจีนและอินเดียลดการซื้อน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ในขณะที่อุปทานจากตะวันออกกลางปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาค
โดยภาพรวมกลุ่มไทยออยล์มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มฯ รวมผลกระทบจากสต๊อกนํ้ามันอยู่ที่ 10.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในไตรมาส 1/2567 เพิ่มขึ้น 6.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากไตรมาส 4/2566
สำหรับภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นในช่วงไตรมาส 2/2567 นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ TOP มองว่ามีแนวโน้มอ่อนตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 หลังได้รับแรงกดดันจากโรงกลั่นใหม่หลายแห่งที่เริ่มเปิดดำเนินการ ทำให้อุปทานปรับเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงกลั่นยังได้รับแรงหนุนจากโรงกลั่นรัสเซียที่ยังคงอยู่ในระหว่างการปิดปรับปรุงจากการถูกโจมตี ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มตึงตัว ในขณะที่อุปสงค์น้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ ท่ามกลางปริมาณสต๊อกน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลทั่วโลกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง และสำหรับภาพรวมของธุรกิจโรงกลั่นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 มีแนวโน้มปรับตัวสู่สมดุล โดยคาดว่าจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ภายใต้การนำของนายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2567 มีกำไรสุทธิ จำนวน 3,723 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนกว่า 100% โดยคิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 0.31 บาท สำหรับ EBITDA ในไตรมาส 1 อยู่ที่ 6,173 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,650 ล้านบาท หรือกว่า 100% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 โดยเพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งกลุ่มธุรกิจ Mobility จากภาพรวมมีกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่ดีขึ้น
บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) (BSRC) ที่มีนายบัณฑิต หรรษาไพบูลย์ เป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แจ้งว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 1 / 2567 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 63,583 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยมี EBITDA 2,117 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 855 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 198% จากไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 263% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 0.25 บาท
ส่วนภาพรวมทั้งกลุ่มบริษัทบางจากภายใต้การนำของนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2567 มีรายได้จากการขายและให้บริการ 135,382 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 68 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 คิดเป็น EBITDA รวม 15,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 จากไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 และมีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 2,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 1.68 บาท
โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน (โรงกลั่นพระโขนงและโรงกลั่นศรีราชา) มี EBITDA 4,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ค่าการกลั่นพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (จาก 4.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในไตรมาส 4 ปี 2566 มาเป็น 6.08 เหรียญสหรัฐฯ)
กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA 1,899 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ด้วยปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวมทุกช่องทางสูงถึง 3,541 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสแรกปี 2566 เติบโตจากเครือข่ายสถานีบริการที่ครอบคลุม 2,217 สถานีทั่วประเทศ มียอดขายและส่วนแบ่งการตลาดผ่านสถานีบริการที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29.2 (จากร้อยละ 28.8 ณ สิ้นปี 2566)
บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ภายใต้การนำของ โรเบิร์ต โดบริค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ มีผลกำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2567 รวม 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยหลักมาจากค่าการกลั่นที่สูงขึ้น กำไรจากสต๊อกน้ำมันเนื่องจากราคาน้ำมันเฉลี่ยสูงขึ้น รวมถึงธุรกิจการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เข้าซื้อเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา
สำหรับปริมาณน้ำมันดิบที่โรงกลั่นนำเข้ากลั่นในไตรมาสแรกของปี 2567 อยู่ที่ 167,000 บาร์เรลต่อวัน หรือเทียบเท่ากับร้อยละ 96 ของกำลังการกลั่นทั้งหมด ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ค่าการกลั่นทางการตลาดในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับตัวดีขึ้นเป็น 8.31 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับ 6.36 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 จากพรีเมียมน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ รวมถึง อัตรากําไรขั้นต้นที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนจากน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 มาเป็นยูโร 5
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ภายใต้การบริหารของ นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2567 โดยมีกำไร 1,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 413 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 145 จากไตรมาส 4/2566 โดยมีรายได้รวม 74,644 ล้านบาท ลดลง 652 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566 จากการที่บริษัทฯ สามารถผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ภายในประเทศในไตรมาส 1/2567 ส่งผลให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลที่บริษัทฯ จำหน่ายปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้การลดการผลิตน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องของกลุ่มโอเปกพลัส และความขัดแย้งทางการเมืองในหลายประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 1/67 ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน จำนวน 901 ล้านบาท ประกอบกับมีรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่ได้รับจำนวน 1,324 ล้านบาท และกำไรจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมัน (Hedging Oil) จำนวน 59 ล้านบาท รวมเป็นการบันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิ (Net Inventory Gain) รวม 2,284 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี จำนวน 7,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 978% และมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA จำนวน 4,680 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1/2567 ปัจจัยลบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้บริษัทฯ บันทึกขาดทุนจากการทำสัญญาอนุพันธ์ ทางการเงิน 319 ล้านบาท และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้จำนวน 134 ล้านบาท ทำให้ไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 145 จากไตรมาสก่อน