ย้อนรอยเส้นทางประมูลเอราวัณ บงกช

3066
- Advertisment-

ย้อนรอยเส้นทางการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกช นับตั้งแต่แก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม เมื่อ22มิ .ย.2560 ถึงวันลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประมูล 25ก.พ.2562

ในปี 2559 รัฐบาลได้มีนโยบายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมในประเทศมากขึ้น โดยได้เพิ่มระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และระบบสัญญาจ้างบริการ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560

วันที่ 30 พฤษภาคม 2559 มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2559 (ครั้งที่ 7) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในปี 2565 – 2566 โดยให้กระทรวงพลังงานคัดเลือกผู้ดำเนินการโดยเปิดให้มีการประมูลแข่งขันยื่นข้อเสนอเป็นการทั่วไปล่วงหน้าก่อนที่แหล่งเอราวัณ-บงกช จะสิ้นอายุสัมปทาน

- Advertisment -

จากนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงได้จัดทำทีโออาร์สำหรับการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) ต่อมาในเดือนตุลาคม 2560 ได้มี การปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่ง ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ได้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยได้มาสานต่อและผลักดันให้เกิดการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) ตามแผนการดำเนินงานต่างๆ ที่วางไว้
วันที่ 8 มีนาคม 2561 มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2561 (ครั้งที่ 14) ได้รับทราบแนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นอายุในปี พ.ศ. 2565-2666

วันที่ 23 เมษายน 2561 มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2561 (ครั้งที่ 15) ได้รับทราบแผนบริหารจัดการการประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61และ G2/61 และให้ออกประกาศเชิญชวน ในวันที่ 24 เมษายน 2561
วันที่ 24 เมษายน 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน แถลงความพร้อมการเปิดประมูล ขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61และ G2/61 พร้อม ออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูล โดยเปิดให้รับเอกสารการประมูล 2 ช่องทาง ได้แก่ รับเอกสารที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชั้น 21 และดาวน์โหลดเอกสารทางเว็ปไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

วันที่ 26 เมษายน 2561 มีบริษัทที่สนใจเข้าร่วมประมูล มารับเอกสารการประมูลที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม จำกัด บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด บริษัท Mitsui Oil Exploration Co., Ltd. บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และนอกเหนือจากนี้ ยังมีบริษัทอื่นๆ ได้ดาวน์โหลดเอกสารการประมูลผ่านเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อาทิ บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด และกิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber group เป็นต้น

วันที่ 4 พฤษภาคม 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 ตามทีโออาร์การเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) เข้ายื่นแสดงความจำนง เพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยมีบริษัทเข้ามายื่นเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น จำนวน 6 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด 3. บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด 4. บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท 5. บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด 6. กิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber group

วันที่ 15-16 พฤษภาคม 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กำหนดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลเข้ายื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้น ซึ่งมีผู้ประกอบการได้เข้ายื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อเข้าร่วมประมูลทั้ง 2 แปลง ณ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ดังนี้ แปลง G1/61 (เอราวัณ) จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 2. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited 3. บริษัท MP G2 (Thailand) Limited 4. บริษัท Total E&P Thailand 5.บริษัท OMV Aktiengesellschaft และแปลง G2/61 (บงกช) จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 2. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited 3. บริษัท MP L21 (Thailand) Limited 4. บริษัท OMV Aktiengesellschaft โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ใช้เวลา หนึ่งสัปดาห์ในการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นก่อนประกาศผล ส่วนบริษัทจากจีน หรือ กิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber group ได้ถอนตัวและไม่ได้มายื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อเข้าร่วมประมูล
วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น เข้าชิงสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย โดยมีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น และมีสิทธิเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 2. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited 3. บริษัท MP G2 (Thailand) Limited 4. บริษัท Total E&P Thailand 5. บริษัท OMV Aktiengesellschaft และ แปลง G2/61 (แหล่งบงกช) จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 2.บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited 3.บริษัท MP L21 (Thailand) Limited 4. บริษัท OMV Aktiengesellschaft

วันที่ 30 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เปิดให้บริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น เข้ายื่นเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมประมูล โดยมีบริษัทเข้ายื่นแสดงความจำนงสำหรับแปลง G1/61 (เอราวัณ) จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 2.บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited 3.บริษัท Total E&P Thailand 4.บริษัท MP G2 (Thailand) Limited และ G2/61 (บงกช) จำนวน 3 ราย ) ได้แก่ 1. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 2. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited 3. บริษัท MP L21 (Thailand) Limited นอกจากนี้ บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมประมูลแปลง G1/61 (เอราวัณ) และ แปลง G2/61 (บงกช) ได้รับรองสิทธิให้บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด เข้าร่วมขอรับชุดข้อมูล ทั้ง 2 แปลงด้วย และบริษัท PTTEP Energy Development Company Limited ได้รับรองสิทธิให้บริษัท Total E&P Thailand เข้าร่วมขอรับชุดข้อมูลสำหรับแปลง G2/61 (บงกช) สำหรับบริษัท OMV Aktiengesellschaft ซึ่งได้ยื่นเอกสารในขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ไม่ได้ร่วมแสดงความจำนงเข้าร่วมประมูลเมื่อสิ้นสุดกำหนดการในวันที่ 1 มิถุนายน 2561
ทั้งนี้ บริษัท OMV Aktiengesellschaft จากประเทศออสเตรีย และบริษัทจากจีน ซึ่งก็คือ กิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber group ได้ถอนตัวจากการประมูลเนื่องจากพิจารณาดูแล้วอาจจะไม่คุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากแหล่งเอราวัณ-บงกช มีความซับซ้อน และดำเนินการยาก ต้องอาศัยความคุ้นเคยและความชำนาญในพื้นที่จึงจะสามารถดำเนินการได้ ดังนั้น จึงมีเพียงบริษัทที่รับสัมปทานในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยอยู่แล้วที่ยังคงเดินหน้าในการร่วมประมูลต่อไป ในการประมูลครั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยืนยันว่า เป็นการประมูลที่เปิดกว้างให้บริษัทที่สนใจเข้าร่วมประมูลอย่างเท่าเทียมกัน

วันที่ 4 มิถุนายน 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้จัดสัมมนาผู้เข้าร่วมประมูล (Bidder Conference) ให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น และได้ยื่นเอกสารแสดงความจำนงเข้า ร่วมประมูล เพื่อให้ได้รับทราบรายละเอียดที่เกี่ยวกับการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) ได้อย่างเท่าเทียมกัน ทุกบริษัท อาทิ ภาพรวมทางเทคนิคทั่วไปของแปลงสำรวจที่ประมูล และรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ข้อกำหนด รวมถึงเงื่อนไขการประมูล กระบวนการจัดทำและยื่นข้อเสนอการประมูล ชุดข้อมูลของแปลงสำรวจ และการเข้าใช้ห้องศึกษาข้อมูล เป็นต้น

ในระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน – 21 กันยายน 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เปิดห้อง Data Room ให้ผู้เข้าร่วมประมูลได้ศึกษาข้อมูลแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อจัดทำข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ

วันที่ 25 กันยายน 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนต่างๆ เข้ายื่นแผนการดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอทางด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ ในทีโออาร์ เพื่อชิงสิทธิเป็นผู้ดำเนินการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แปลง ร่วมกับภาครัฐให้เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
หลังจากนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการพิจารณาเปรียบเทียบข้อเสนอเพื่อเลือกผู้ชนะการประมูล

13 ธันวาคม 2561 ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอให้ ผู้ชนะการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยแปลง G1/61(แปลงเอราวัณ ) คือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เครือมูบาดาลา และในแปลงG2/61(แปลงบงกช) คือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต

25 กุมภาพันธ์2562 รัฐมนตรีพลังงานลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประมูลในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับทั้ง 2 แปลง โดยคู่สัญญาส่งแผนงานให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ภายใน45วัน นับจากวันลงนาม

…………………………………………………………..

Advertisment