กระทรวงพลังงานเผยตัวเลขยอดนำเข้า LPG ช่วง 4 เดือน(ม.ค.-เม.ย.2563) ลดฮวบถึง 87.3% มูลค่าลดลงจาก 1,135 ล้านบาทเหลือแค่ 125 ล้านบาท โดยความต้องการใช้ในประเทศในภาพรวมลดลง 13.6% และลดลงในภาคขนส่งมากสุดถึง 27.9 % โดยปัจจัยสำคัญมาจากผลกระทบ COVID-19
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC) รายงานว่า กระทรวงพลังงานได้รายงานสถานการณ์การใช้ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซ LPG ช่วง 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย.) 2563 พบว่าปริมาณการนำเข้าลดฮวบลงมากถึง 87.3% เหลือเฉลี่ย 9,000 ตันต่อเดือน จากช่วงเดียวกันของปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 72,000 ตันต่อเดือน ในขณะที่มูลค่าการนำเข้า ลดลง 89%เหลือ เพียง 125 ล้านบาทต่อเดือน จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มูลค่านำเข้าอยู่ที่ 1,135 ล้านบาทต่อเดือน
ในขณะที่ยอดการใช้เฉลี่ยอยู่ที่15.65 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลงถึง 13.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่อยู่ระดับ 18.10 ล้านกิโลกรัมต่อวัน
โดยภาคขนส่งลดลงมากสุด 27.9% มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.12 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลงจาก ช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 2.94 ล้านกิโลกรัมต่อวัน รองลงมาคือภาคปิโตรเคมี ยอดใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6.28 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่อยู่ที่ 7.53 ล้านกิโลกรัมต่อวัน หรือลดลง 16.6% ส่วน ภาคครัวเรือนปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.51 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลง 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.83 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ,ภาคอุตสาหกรรมลดลง 4.5% มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.73 ล้านกิโลกรัมต่อวัน
ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณการใช้และการนำเข้าลดลง มาจากมาตรการล็อคดาวน์เพื่อลดการติดเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.2563
ทั้งนี้แม้ภาครัฐจะมีมาตรการลดราคาก๊าซเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมี.ค. และจะสิ้นสุดมาตรการช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2563 นี้
โดยลดราคา LPG อัตรา 3 บาทต่อกิโลกรัม หรือรวม 45 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม สำหรับภาคครัวเรือน ที่ทำให้ราคาลดลงจาก 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เหลือ 318 บาทต่อถังขนาด15 กิโลกรัม ก็ไม่ช่วยให้ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น