สนพ. เตรียมปิดการยื่นขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ เพื่อติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้ารถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV หลังจบโครงการรอบที่ 6 ในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยมียอดติดตั้งสะสมประมาณ 80 หัวจ่าย ต่ำกว่าเป้าหมายตั้งไว้ที่ 150 หัวจ่าย ขณะที่ภาคเอกชนพร้อมขยายการลงทุนเองและหันไปขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการของบีโอไอมากขึ้น
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) สำหรับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน หลังเปิดโครงการฯ มาจนถึงรอบที่ 6 แล้ว โดยขณะนี้ มีผู้สนใจยื่นขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กองทุนอนุรักษ์พลังงาน) สะสมรวมประมาณ 80 หัวจ่าย ต่ำกว่าเป้าหมายในปี 2562 ตั้งไว้ที่ 100 หัวจ่าย และยังลดลงจากเป้าหมายเริ่มแรกของโครงการฯ อยู่ที่ 150 หัวจ่าย
อย่างไรก็ตาม หลังจบโครงการรอบที่ 6 แล้ว สนพ. จะไม่เปิดให้ยื่นขอรับงบจากภาครัฐอีก เนื่องจากปัจจุบันภาคเอกชนมีความพร้อมลงทุนได้เองและยังหันไปยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มากขึ้น ทำให้มีงบประมาณเหลือจากโครงการฯ ที่ต้องส่งคืนกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ส่วนแผนการส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV ให้ได้ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ยังคงดำเนินการต่อไป แต่จะติดตามสถานการณ์เพื่อให้เกิดการใช้รถยนต์ EV เป็นไปตามแผน
ด้าน นายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า หลังดำเนินโครงการฯ ทั้ง 6 รอบที่ผ่านมา มีเอกชนขอรับงบจากกองทุนอนุรักษ์ฯ เพื่อติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV เสร็จแล้วประมาณ 50% และบางส่วนอยู่ระหว่างตรวจรับงาน คาดว่าจะติดตั้งครบ 80 หัวจ่าย ภายใน 6 เดือน หลังจบโครงการฯ รอบที่ 6 ในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยได้ใช้งบประมาณจากกองทุนฯ ไปแล้วจำนวน 46 ล้านบาท จากที่ได้รับจัดสรรมาประมาณ 47 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินให้เปล่า ยังไม่รวมงบสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น ค่าประชาสัมพันธ์ การอบรมให้ความรู้ผ่านการจัดงานต่างๆ ระบบเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ EV เป็นต้น
ทั้งนี้ ยอมรับว่าเริ่มเห็นปัญหาของการใช้รถยนต์ EV ที่มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้า จึงต้องวางแผนส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ EV เพิ่มขึ้น โดยกระทรวงการคลังมีมาตรการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ 100% ลงเหลือ 8% และหากเป็นรถยนต์ EV ที่ผลิตและใช้แบตเตอรี่จากโรงงานในประเทศจะไม่เสียภาษีสรรพสามิต หรือภาษีเป็น 0 จะทำให้ราคารถยนต์ EV ถูกลง ช่วยให้ประชาชนตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการหลายรายที่สนใจจะตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ 100% ในประเทศอีกหลายราย เช่น FOMM ที่จะเริ่มเดินสายการผลิตในปีนี้ เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของไทย และเชื่อว่าใน 5 ปีจากนี้ จะมีผู้ลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเทศ และในอาเซียน เพิ่มขึ้น
สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนในการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV มากกว่า 500 หัวจ่าย และมีจำนวนรถปลั๊กอินไฮบริด ประมาณ 10,000 คัน และรถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ 100% ประมาณ 200 คัน เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา ส่วนต้นทุนการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ EV มีแนวโน้มถูกลง 30% จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากเดิมหัวจ่ายแบบเร่งด่วน (Quick Charge) ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 ล้านบาทต่อหัวจ่าย และหัวจ่ายแบบธรรมดา (Normal Charge) ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนบาทต่อหัวจ่าย