ท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนของตลาดน้ำมัน ที่ไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักที่ราคาต้องขึ้นลงตามกลไกตลาดโลกได้ ซ้ำได้รับผลกระทบจากสงครามในตะวันออกกลาง จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้กระทรวงพลังงานต้องรับมืออย่างรอบด้าน ซึ่ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ร่างนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน ก็เร่งเดินหน้าเสนอกฎหมายสำรองน้ำมันเตรียมเข้ารัฐสภาต้นปี 2568 และได้มีการเผยอีกว่า เตรียมนำโมเดล กกพ. มาปรับใช้ เพื่อกำกับดูแลราคาน้ำมันอย่างเป็นธรรม หลังจากที่ผ่านมาปล่อยให้การขึ้นลงราคาเป็นอำนาจของผู้ค้าน้ำมันมาตลอด
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การมีน้ำมันสำรองจะทำให้เราสามารถเผชิญกับวิกฤติด้านน้ำมันหรือพลังงาน เช่น ในกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครนและความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ได้ดีกว่ารูปแบบปัจจุบัน ส่วนรายละเอียดการได้มาของน้ำมันสำรองนี้หรือการเก็บรักษา ได้คิดและศึกษาไว้หมดแล้ว จะทำให้ประเทศเก็บน้ำมันเข้ากองทุนฯ แทนเงิน และไม่ใช่สำรองเพื่อการค้า แต่จะต้องมีระบบนี้มาแทนระบบกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้เงินมาเป็นทุนสำรอง และเมื่อเรามีสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) เราจะไม่ปล่อยให้เป็นเพียงการเก็บสำรองน้ำมันไว้อย่างเดียว แต่เราจะนำน้ำมันสำรองนี้มาหมุนเวียน โดยนำมาใช้กำหนดหรือรักษาระดับราคาน้ำมันในประเทศ ผ่านกองทุนที่อาจจะเปลี่ยนจากกองทุนน้ำมันฯ เป็น “กองทุนน้ำมันสำรองเพี่อความมั่นคง” ควบคู่กันไป
โดยการใช้เงินมารักษาระดับราคาน้ำมันนั้น สวนทางกับภารกิจของกระทรวงพลังงาน
“เงินในจำนวนเดียวกันทุกวันนี้ค่าของเงินจะน้อยลงเมื่อเทียบกับแต่ก่อน แต่น้ำมันมีแต่ราคาสูงขึ้น สวนทางกับค่าเงิน ทำให้กองทุนน้ำมันฯ กลายเป็นหนี้สินไม่ใช่ทรัพย์สิน” นายพีระพันธุ์ย้ำชัดถึงปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมาย โดยคาดว่าปลายปีนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลและการกำหนดราคาน้ำมันจะแล้วเสร็จ และกฎหมายสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ SPR ก็จะเสร็จตามมาประมาณต้นปี 2568
นอกจากนี้ ยังได้มีการศึกษาในกรณีค่าไฟฟ้าจะมีการปรับทุก 4 เดือน ไม่ปรับเป็นรายวันเหมือนราคาน้ำมัน ทั้ง ๆ ที่ไฟฟ้าก็ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและมีการปรับราคาขึ้นลงตามตลาดโลกเหมือนน้ำมัน ที่เป็นเช่นนี้ นายพีระพันธุ์ชี้ว่า เพราะมีกฎหมายกำกับกิจการไฟฟ้ามาเป็นตัวควบคุม ทำให้มีคณะกรรมการที่มีอำนาจกำกับดูแล คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ในขณะที่การจำหน่ายน้ำมันกลับไม่เคยมีกฎหมายเช่นนี้ ปล่อยให้การขึ้นลงราคาน้ำมันเป็นอำนาจของผู้ค้าน้ำมันและทำได้ทุกวันตามอำเภอใจตลอดมา จึงเล็งเห็นว่า การค้าขายน้ำมันก็ควรมีกฎหมายที่เป็นกฎกติกาที่สามารถกำกับดูแลและตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ได้ ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งตรวจร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ทำต้นร่างเสร็จแล้ว เพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมกับประชาชนเช่นเดียวกับไฟฟ้าต่อไป