พิษโควิด-19 ทำกลุ่มปตท.ชะลอโครงการลงทุนขนาดใหญ่กว่าแสนล้านเพื่อรักษาสภาพคล่อง

1594
- Advertisment-

พิษโควิด-19 ทำให้กลุ่มปตท.ต้องปรับแผนการลงทุนครั้งใหญ่ โดยชะลอโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญรวมมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท ทั้งปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่สหรัฐอเมริกา ของ GC ,โครงการ Maximum Aromatics Project (MARS) ของ IRPC ,โครงการของปตท.ภายใต้งบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีมูลค่า2แสนล้านบาทและการปรับลดกำลังการกลั่นลง15-20%ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศที่ลดลง  ในขณะที่จะเน้นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขและดิจิทัล

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2563 ว่า กลุ่มปตท.ได้มีการหารือในระดับผู้บริหารระดับสูง หรือ Group Management Comittee ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบ ว่าจะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มปตท.อย่างไร  โดยผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ ทำให้ กลุ่มปตท.ต้องปรับแผนการลงทุนในระยะ 5 ปีใหม่

ทั้งนี้ที่มีความชัดเจนแล้วว่าจะต้องมีการชะลอโครงการออกไปก่อนคือ โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในรัฐโอไฮโอ ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ดีมานด์และซัพพลายของสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนแปลงไปมาก  โดยในช่วงนี้บริษัทลูกควรรักษาสภาพคล่องเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจที่มีอยู่แล้วก่อนที่จะไปใช้ลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจน  เช่นเดียวกับการให้ชะลอโครงการ
Maximum Aromatics Project (MARS) ของ IRPC มูลค่าลงทุน 3-4 หมื่นล้านบาท ที่เป็นการผลิตพาราไซลีน ส่งออกไปจีน เนื่องจาก จีนมีการเปลี่ยนนโยบายที่จะลงทุนโรงงานผลิตพาราไซลีนขนาดใหญ่ในประเทศ เพื่อเน้นขายภายในประเทศ ซึ่งจะมีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่า ที่ IRPC จะลงทุน

- Advertisment -

นอกจากนี้ในส่วนของโครงการลงทุนของปตท.เองภายใต้ งบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้าที่เตรียมไว้จำนวน 203,583 ล้านบาท ก็จะมีการทบทวนใหม่

นอกจากนี้ในส่วนของโรงกลั่นในกลุ่มปตท.ทั้งของGC  IRPC และไทยออยล์ ก็จะมีการปรับลดกำลังการกลั่นลง 15-20% เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศที่ลดลง โดยยอมรับว่าความต้องการใช้และราคาน้ำมันดิบที่ลดลงต่ำอย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มโรงกลั่นมีปัญหาเรื่องการเก็บสต็อกน้ำมัน และการขาดทุนสต็อก

สำหรับโครงการที่มีความจำเป็นจะต้องเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องจากมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์เช่น การลงทุนท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และ โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project ) ของไทยออยล์ มูลค่า 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่เป็นการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเป็นมาตรฐานยูโร 5 รวมทั้งโครงการที่เป็น new s-curve ที่เกี่ยวกับดิจิทัล และสาธารณสุข ที่มีความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม

นายชาญศิลป์ กล่าวด้วยว่า บอร์ดปตท.จะมีการประชุมในวันที่ 30 เม.ย.2563 นี้ ซึ่งจะเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของเขาก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่งซีอีโอ ของ ปตท.ในวันที่ 12 พ.ค.2563  จะมีการหยิบยกเรื่องของการทบทวนแผนมาหารือด้วย  ทั้งนี้ ซีอีโอ ปตท.คนใหม่คือนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ที่จะมารับหน้าที่ต่อ ก็จะมีการเดินหน้าตามแผนที่วางไว้  เนื่องจากที่ผ่านมา มีการทำงานร่วมกันเป็นทีมและเข้าใจปัญหาตรงกันอยู่แล้ว

Advertisment