พายุ “ปาบึก” ป่วนอ่าวไทย ปตท.สผ.หยุดผลิตบงกช อพยพชาวแท่นขึ้นฝั่ง

2418
- Advertisment-

ปตท.สผ. ระงับการผลิตก๊าซฯ ในแหล่งบงกชเหนือและบงกชใต้ และอพยพพนักงานบนแท่นผลิตขึ้นฝั่ง เหตุตำแหน่งแท่นอยู่ในเส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) ด้านกระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์ร่วมกับบริษัทผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยทั้ง 8 กลุ่มบริษัทอย่างใกล้ชิด ยืนยันการผลิตก๊าซฯและน้ำมันดิบที่ลดลงจากเหตุพายุปาบึก ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ในประเทศ โดย ปตท. จัดหา LNG และ LPG ให้เพียงพอต่อความต้องการ ขณะ กฟผ. สำรองจากเชื้อเพลิงอื่นผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซฯ     

จากรายงานพยากรณ์อากาศนอกชายฝั่งเกี่ยวกับสถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) ซึ่งเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณอ่าวไทยในขณะนี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยของการปฏิบัติงานในพื้นที่ปฏิบัติงานนอกชายฝั่ง

เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชเหนือ และแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชใต้ อยู่ในเส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพนักงานและกระบวนการผลิตบนแท่นทั้งสองโดยตรง ปตท.สผ. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องระงับการผลิตก๊าซฯ จากทั้งสองแท่นไว้ชั่วคราว และดำเนินการส่งพนักงานที่เหลือทั้งหมดกลับขึ้นฝั่งที่จังหวัดสงขลา โดยก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2561 ปตท.สผ. ได้ระงับกิจกรรมการสำรวจและการซ่อมบำรุง ส่งพนักงานส่วนหนึ่งกลับเข้าสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย รวมทั้งเคลื่อนย้ายแท่นเจาะและเรือสนับสนุนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบออกจากบริเวณพายุแล้ว และขณะนี้ ปตท.สผ. ได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ยังคงดำเนินการผลิตก๊าซฯ ภายใต้มาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อลดผลกระทบต่อการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ

- Advertisment -

ในส่วนของเชฟรอน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและอยู่ระหว่างการดำเนินการเคลื่อนย้ายพนักงานส่วนใหญ่ขึ้นฝั่ง รวมถึงเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะและเรือสนับสนุนต่างๆ ไปยังสถานที่ปลอดภัย ตามขั้นตอนแผนความปลอดภัยของบริษัท

ด้านกระทรวงพลังงาน ได้ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึกบริเวณอ่าวไทยในวันที่ 2 มกราคม 2562 ว่าอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานได้ประสานข้อมูล สั่งการและติดตามร่วมกับบริษัทผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยทั้ง 8 กลุ่มบริษัทอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ได้มีการถอนตัวเจ้าหน้าที่ที่ไม่จำเป็นในการผลิตกลับขึ้นฝั่ง  ณ จังหวัดสงขลาและจังหวัดชลบุรีโดยเรือและเฮลิคอปเตอร์ เรียบร้อยแล้วอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ บริษัทผู้ประกอบการจำเป็นต้องหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบบางส่วนเพื่อความปลอดภัย ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงจากการที่แหล่งบงกชเหนือหยุดการผลิตประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันจากปริมาณการผลิตทั้งหมดในอ่าวไทยจำนวน 2,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับน้ำมันดิบหยุดการผลิตประมาณ 27,000 บาร์เรลต่อวันจากปริมาณการผลิตปัจจุบัน 100,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งในส่วนการผลิตน้ำมันดิบที่ลดลงนั้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ในประเทศ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยในการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาตินั้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะส่งก๊าซธรรมชาติที่ถูกทำให้เหลว (LNG) เข้าระบบเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ในส่วนการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้สำรองจากเชื้อเพลิงอื่นมากขึ้น โดยได้สำรองน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าอย่างเพียงพอหากจำเป็น รวมถึงการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ  สำหรับก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ส่งเข้าโรงแยกก๊าซลดลง กรมธุรกิจพลังงานและ ปตท. จะบริหารจัดการให้มีปริมาณ LPG เพียงพอต่อการใช้ของประชาชน

ทั้งนี้ ในภาพรวมกระทรวงพลังงานสามารถบริหารจัดการโดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะแจ้งให้ทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป

Advertisment