กระทรวงพลังงานยุค”สนธิรัตน์”จัดเต็มรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบในช่วง5ปี (2563-2567) รวมกว่า 3,042เมกะวัตต์ โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์ พลังงานลม 270 เมกะวัตต์ และโซลาร์เซลล์250เมกะวัตต์ และขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ โดยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2018) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 (PDP2018 Rev.1)
เมื่อวันที่18ก.พ.2563 ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ฉบับใหม่ พ.ศ. 2561-2580 ซึ่งประกอบด้วยแผนPDP2018 Rev.1 แผนAEDP2018 แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP2018 และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือGas Plan 2018 ยกเว้นแผนน้ำมันหรือ Oil Plan 2018 ที่ยังจัดทำไม่แล้วเสร็จ ณ ห้องวอเตอร์เกทบอลรูม โรงแรมอมารี วอร์เตอร์เกท กรุงเทพฯ โดยมี
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ท่ามกลางบุคคลในแวดวงพลังงานที่ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ประเด็นที่น่าสนใจของการปรับปรุงแผนAEDP2018 ซึ่งสอดคล้องกับ PDP2018 Rev.1 ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คือการเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในช่วง5ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี2563 ถึง2567 รวมกว่า 3,042เมกะวัตต์ ซึ่งแตกต่าง อย่างสิ้นเชิงไปจากPDP2018 ในยุคนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย 2562 โดยนโยบายในช่วงนั้น ไม่ส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วง5ปี ( ยกเว้นไฟฟ้าจากขยะชุมชน และชีวมวล 3จังหวัดชายแดนใต้) หากราคาค่าไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า2.44บาทต่อหน่วย
โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวมกว่า 3,042เมกะวัตต์ในแผนAEDPใหม่ที่สอดคล้องกับPDP2018 Rev.1 ภายใน5ปีข้างหน้านั้น แยกเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กว่า 1,933เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริด ร่วมกับโซลาร์เซลล์ 550เมกะวัตต์ จากก๊าซชีวภาพ ที่มาจากพืชพลังงานคือหญ้าเนเปียร์ จำนวน600เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย 183เมกะวัตต์ จากชีวมวล 600เมกะวัตต์ ซึ่งเฉพาะช่วงปี 2563 ปีเดียวจะรับซื้อรวม 700เมกะวัตต์
นอกจากนี้ ยังมีไฟฟ้าจากพลังงานลม รวม 270เมกะวัตต์ ที่จะเข้าระบบตั้งแต่ปี 2565 จำนวน90เมกะวัตต์ 2566 อีก 90เมกะวัตต์ และปี2567อีก 90เมกะวัตต์ จากแผนเดิมที่จะเข้าระบบปี2577
การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์บนทุ่นลอยน้ำ จำนวน69เมกะวัตต์ และจากโซลาร์ภาคประชาชน รวมจำนวน 250เมกะวัตต์ โดยตั้งแต่ปี 2563-2567จะเข้าระบบปีละ50เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน จำนวน400เมกะวัตต์ ซึ่งจะเข้าระบบในปี 2565ทั้งหมด และ จากโครงการชีวมวลประชารัฐ จำนวน120เมกะวัตต์ โดยจะเข้าระบบปี 2565 จำนวน60เมกะวัตต์ และปี2566อีก 60 เมกะวัตต์
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน1,933เมกะวัตต์ โดยรัฐให้การอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ในรูป Feed in Tariff หรือ FiT นั้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งแผน สูงขึ้นจากแผนเดิม ประมาณ 7สตางค์ต่อ หน่วย
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กล่าวว่า หลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ในส่วนของโครงการQuick Win จะจัดทำแล้วเสร็จภายในเดือนก.พ.นี้ จากนั้นจะนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาและจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น และออกประกาศทีโออาร์ ให้ผู้ที่สนใจ ยื่นข้อเสนอเข้ามา ประมาณเดือนมี.ค-เม.ย. และน่าจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้สิทธิ์เสนอขายไฟฟ้า ได้ ในเดือน พ.ค.-มิ.ย โดยจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทั้งหมดภายในปี 2563นี้
ในส่วนของการส่งเสริมไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่กระทบต่อค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวมประมาณ 7สตางค์ต่อหน่วยนั้น กระทรวงพลังงานจะบริหารเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าหลักให้มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดทั้ง แอลเอ็นจี พลังน้ำจากสปป.ลาว เพื่อให้มาช่วยลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์สำคัญของการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน เพราะต้องการเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น
ด้านศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเข้าร่วมรับฟังในงานสัมมนาครั้งนี้ กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นนั้นกระทรวงพลังงานจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อช่วยให้คนในชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการอย่างแท้จริง โดยอย่าลืมว่าประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้ที่ต้องช่วยกันแบกรับภาระ
สำหรับในส่วนของการเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมให้เร็วขึ้น นั้น ส่วนตัวเห็นด้วย เพราะเทคโนโลยีกังหันลมพัฒนาไปเร็วมากและมีต้นทุนที่ต่ำลง จนสามารถที่จะรองรับศักยภาพลมที่ไม่แรงมากในประเทศไทย มาใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้าได้
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในกระทรวงพลังงานที่เข้าร่วมการสัมมนา ให้ความเห็นแย้ง กับศ.ดร.พรายพล ว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในส่วนของพลังงานลม นั้นรัฐควรจะเปิดให้มีการประมูลแข่งขันระหว่าง พลังงานลม กับพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อที่จะส่งเสริมให้ค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด ไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวมมากเกินไป
ด้านนายกวิน ทังสุพานิช กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ซึ่งเข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ กล่าวว่า แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB)ที่มีการปรับแผนหลักด้านพลังงานในมิติต่างๆ ให้สอดคล้องกันนั้น ควรจะต้องนำข้อเสนอของกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ที่ได้จัดทำเอาไว้ มาปรับรวมด้วย เพราะมีเนื้อหาของการวางโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน การเปิดเสรีการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า ที่เกี่ยวข้องกับแผนTIEB ทั้งหมด แต่เท่าที่รับฟังการสัมมนา ตัวแทนของกระทรวงพลังงาน ยังไม่ได้กล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานเลย