“พลังงาน”ทำหนังสือแจงผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ยืนยันดำเนินการตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560

1385
cof
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานทำหนังสือชี้แจงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนยันการดำเนินนโยบายด้านพลังงานสอดคล้องรัฐธรรมนูญ มาตรา56วรรคสอง โดยระบุทั้งสายส่งและสถานีไฟฟ้า ถือเป็นโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานที่ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ 3 การไฟฟ้า เพราะเป็นกิจการที่มีความสำคัญด้านความมั่นคงที่ใช้ในการบริหารกิจการด้านไฟฟ้า และไม่มีนโยบายแปรรูปให้เอกชน  มีรูปแบบการบริหารจัดการเหมือนกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านอื่นๆ ของประเทศ เช่น การประปา การรถไฟ โทรคมนาคม

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน( Energy News Center -ENC) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ลงนามในหนังสือถึง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อชี้แจง กรณีคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง ร้องเรียนเลขแดง ที่ 1030/2562 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2562 กรณีการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าโดยให้เอกชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดต่ำลงกว่า 51% อันเป็นการขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 56 วรรคสอง

โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า กระทรวงพลังงานยืนยัน การดำเนินนโยบายด้านพลังงานที่ผ่านมาเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 56 วรรคสอง ที่ได้กำหนดถ้อยคำและเจตนารมณ์ไว้เช่นเดียวกันกับมาตรา 84 (11) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในการห้ามแปรรูปโครงสร้างและโครงข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ โดยโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญได้ระบุตัวอย่างไว้ชัดเจนว่าเป็นเพียงรางหรือสถานีรถไฟ เสา สายส่ง หรือสถานีไฟฟ้า ดังนั้น ในส่วนสายส่งและสถานีไฟฟ้าซึ่งถือเป็นโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญด้านความมั่นคงที่ใช้การบริหารกิจการด้านไฟฟ้าที่เป็นของรัฐนั้น ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ กฟผ. กฟภ. และกฟน.

- Advertisment -

ในส่วนการกำกับดูแลให้เกิดความมั่นคงด้านไฟฟ้า นั้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดย กกพ. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ

ทั้งนี้ การดำเนินการและกำกับดูแลกิจการสาธารณูปโภคด้านพลังงานของกระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการ  ในทำนองเดียวกันกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านอื่นๆ ของประเทศ เช่น การประปา การรถไฟ โทรคมนาคม

“กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบาย พัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานของประเทศ ตลอดจนด้านไฟฟ้าในส่วนที่เป็นของรัฐ โดยไม่มีนโยบายที่จะนำไปสู่การแปรรูปให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนแต่อย่างใด”
ส่วนประเด็นนโยบาย การวางแผนผลิตไฟฟ้าที่มีภาคส่วนต่างๆแสดงความคิดเห็น กระทรวงพลังงานก็พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำมากำหนดการดำเนินการ โดยคำนึงถึงความมั่นคงด้านไฟฟ้าและอัตราค่าไฟฟ้าให้มีความเหมาะสม ไม่เป็นภาระต่อประชาชน ” บางส่วนของสาระสำคัญที่ระบุไว้ในหนังสือที่กระทรวงพลังงาน ส่งถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

Advertisment