รัฐเตรียมให้ผลตอบแทนจูงใจเอกชนร่วมลดใช้ไฟฟ้า แก้ปัญหา Spot LNG ราคาแพง

660
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานเตรียมนำมาตรการลดใช้ไฟฟ้าภาคสมัครใจ หรือ Demand Response ซึ่งจะเสนอให้ค่าตอบแทนจูงใจเอกชนที่สมัครใจร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า เพื่อลดปริมาณนำเข้า Spot LNG ที่มีราคาแพงมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมนำมาตรการลดใช้ไฟฟ้าภาคสมัครใจ หรือ ดีมานด์เรสปอนส์ กลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อหวังให้เกิดการลดใช้ไฟฟ้าโดยเร็ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทาง ซึ่งเบื้องต้นอาจใช้แนวทางเดิมคือ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการและลดใช้ไฟฟ้าได้จะได้รับเงินสนับสนุนการลดใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งงบประมาณที่นำมาใช้ในโครงการดังกล่าวมาจากงบ กกพ. ประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้หวังให้เกิดการลดใช้ไฟฟ้า เพื่อช่วยให้ไทยลดการนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงได้ส่วนหนึ่ง

สำหรับมาตรการ Demand Response แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. มาตรการตอบสนองด้านโหลดต่อความน่าเชื่อถือของระบบ (Reliability-based Options) ซึ่งเป็นรูปแบบการจูงใจให้ลดใช้ไฟฟ้ากรณีที่คาดว่าไฟฟ้าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จากเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น แหล่งผลิตก๊าซหยุดจ่ายก๊าซฯ จากเหตุไม่คาดคิด เป็นต้น และ 2.มาตรการตอบสนองด้านโหลดต่อกลไกราคา (Price-based Options) เป็นการกำหนดราคาจูงใจให้ประชาชนหันไปใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าช่วงที่เกิดความต้องการใช้สูงสุดในแต่ละวันหรือ ช่วงพีค

- Advertisment -

ทั้งนี้มีรายงานว่า ปลายปี 2565 นี้ ประเทศไทยจะประสบปัญหาวิกฤติก๊าซธรรมชาติอีกครั้ง โดยจากข้อมูลพบว่าก๊าซฯ จากประเทศเมียนมาที่ส่งเข้าไทยจะหายไปโดยรวมประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากปริมาณก๊าซฯในแหล่งเมียนมาลดต่ำลงตามธรรมชาติจากการดึงก๊าซฯมาใช้เป็นเวลานาน ประกอบกับก๊าซฯ แหล่งเอราวัณในอ่าวไทยยังกลับมาผลิตได้ไม่เต็มศักยภาพ เบื้องต้นคาดว่าในปี 2565 จะผลิตได้สูงสุดประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากศักยภาพที่ต้องผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ดังนั้นจากปัญหาแหล่งก๊าซฯ เมียนมาและเอราวัณที่มีปริมาณลดลง ทำให้คาดการณ์ว่าไทยจะขาดก๊าซฯ ประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูงมาก และไทยต้องเร่งหาแนวทางรองรับปัญหาดังกล่าว โดยเบื้องต้นทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะใช้มาตรการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตามาใช้กับโรงไฟฟ้ามากที่สุดก่อน หากยังไม่เพียงพอจะให้ทาง บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มาทดแทน  

โดยการใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้า เนื่องจากราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับราคา LNG  ประกอบกับช่วงปลายปีราคา LNG ตลาดโลกจะสูงมาก เพราะประเทศแถบยุโรปต้องการใช้ LNG มากเพื่อสร้างความอบอุ่นในฤดูหนาว     

นอกจากนี้ทาง กกพ. จะเรียกไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำเพื่อผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเป็นอันดับแรกก่อน

อย่างไรก็ตามคาดว่าไทยยังต้องเผชิญวิกฤติก๊าซฯ ต่อไปจนถึงปี 2566 เพื่อรอให้ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เร่งกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณ และก๊าซฯ ในเมียนมา ที่ ปตท.สผ.เข้าไปลงทุนให้ได้เพิ่มมากขึ้นโดยเร็ว และคาดว่าในปี 2567 กำลังการผลิตก๊าซฯ แหล่งเอราวัณจะกลับมาผลิตเต็มศักยภาพ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และก๊าซฯ เมียนมาน่าจะกลับเข้าระบบได้ตามปกติ

ส่วนกลุ่มผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) รายใหม่ ยังไม่สามารถสั่งซื้อ LNG สัญญาระยะยาวได้  โดยผู้ขายในต่างประเทศระบุจะทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาวได้ช่วง 2 ปีข้างหน้า หรือในปี 2567 ดังนั้นในระยะสั้น 1-2 ปีนี้ ไทยยังต้องแก้ปัญหาการขาดแคลนก๊าซฯ ในแต่ละครั้งไปก่อน และขอความร่วมมือให้ประชาชนลดใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก

Advertisment