พลังงาน จ่อตรึงดีเซล-LPG เป็นของขวัญปีใหม่ รอความชัดเจนหลัง กบง. พิจารณามาตรการราคาพลังงานหมดอายุยกแผงในสัปดาห์นี้

289
- Advertisment-

กระทรวงพลังงาน เตรียมของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ลุ้นตรึงต่อทั้งราคาดีเซล 30 บาทต่อลิตร และ LPG 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ด้านคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จ่อประชุมสัปดาห์นี้ ก่อนมาตรการตรึงราคาพลังงานยกแผง ทั้งดีเซล, LPG, NGV, และมาตรการลดภาษีดีเซล จะสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2566  

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า ในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 นี้ มาตรการตรึงราคาพลังงานต่างๆ จะสิ้นสุดลง ได้แก่ 1.การตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร 2.การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ไม่ให้เกิน 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม 3.มาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 2.50 บาทต่อลิตร 4.มาตรการตรึงราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถทั่วไป 18.59 บาทต่อกิโลกรัม และกลุ่มแท็กซี่ในโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกันของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ตรึงไว้ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม และ 5. มาตรการคงสัดส่วนผสมไบโอดีเซลไม่ต่ำกว่า 6.6-7% หรือ ดีเซล B7 โดยมาตรการทั้งหมดนี้จะสิ้นสุดลงในสิ้นปี 2566 นี้

ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน โดยมีแนวโน้มที่จะตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และตรึงราคา LPG ไม่ให้เกิน 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมอย่างต่อเนื่อง แต่จะต้องรอผลสรุปจากการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ซึ่งจะเริ่มประชุมภายในสัปดาห์นี้ว่าจะพิจารณาอย่างไรต่อไป  นอกจากนี้มาตรการของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนอื่นๆ โดยภาพรวมนั้น ทางกระทรวงพลังงานจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อรับทราบก่อนประกาศให้ประชาชนทราบต่อไป

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรนั้น ส่วนหนึ่งต้องรอกระทรวงการคลังพิจารณาว่าจะต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 2.50 บาทต่อลิตรให้ต่อเนื่องได้หรือไม่ หากไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีดังกล่าว ทางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องนำเงินเข้าไปพยุงราคาไว้รวมประมาณ 4-5 บาทต่อลิตร

ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด 3 ธ.ค. 2566 อยู่ในสถานะเงินติดลบที่ 78,416 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 32,482 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,934 ล้านบาท โดยปัจจุบันกองทุนฯ มีรายรับจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ประมาณ 135.26 ล้านบาทต่อวัน ส่วนรายจ่ายการชดเชยราคาดีเซล และ LPG ประมาณ 212.07 ล้านบาทต่อวัน ส่งผลให้กองทุนฯ อยู่ในสภาวะเงินไหลออก 76.81 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งมาจากการชดเชยราคาดีเซล 56.5 ล้านบาทต่อวัน และชดเชยราคา LPG 20.31  ล้านบาทต่อวัน

ทั้งนี้หากกองทุนฯ ต้องควักเงินชดเชยราคาดีเซลเพิ่มขึ้นในกรณีกระทรวงการคลังไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษี ก็อาจส่งผลให้กองทุนฯ ต้องเบิกเงินจากสถาบันการเงินที่ได้ทำเรื่องขอกู้ไว้ล่วงหน้าแล้วอีกครั้ง จากวงเงินที่สามารถเบิกได้ 4 หมื่นล้านบาท    

 ส่วนการตรึงราคา LPG 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม มีแนวโน้มจะต่ออายุไปอีก 3-4 เดือน เหมือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีแนวทางที่ กบง. อาจพิจารณาให้การตรึงราคาดีเซล และ LPG ไปสิ้นสุดพร้อมกับมาตรการลดภาษีกลุ่มน้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ 0.15-1 บาทต่อลิตร ช่วงสิ้นเดือน ม.ค. 2567 ได้ เพื่อให้การพิจารณาราคาพลังงานทั้งหมดได้กลับมาเริ่มต้นใหม่พร้อมกัน

สำหรับมาตรการตรึงราคาก๊าซ NGV สำหรับรถทั่วไป 18.59 บาทต่อกิโลกรัม และกลุ่มแท็กซี่ในโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกันของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ตรึงไว้ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม ที่จะสิ้นสุดในสิ้นปี 2566 เช่นกันนั้น จะมีการตรึงราคาต่อหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างกระทรวงพลังงานและ ปตท. ในเร็วๆนี้  

นอกจากนี้ในส่วนของมาตรการคงสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ B100 ที่ 6.6-7%  ในน้ำมันดีเซลทุกลิตร หรือเรียกว่า ดีเซล B7 นั้น ก็จะสิ้นสุดมาตรการกำหนดสัดส่วนผสมดังกล่าวตอนสิ้นปี 2566 เช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้ทางกรมธุรกิจพลังงานจะต้องเป็นผู้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาต่อไป   

Advertisment