พร้อมทดสอบโมเดลใช้บริการสถานีชาร์จรถEV ข้ามเครือข่ายต้นปี 64

730
- Advertisment-

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จับมือ 11 องค์กร เตรียมทดสอบระบบ “โมเดลการใช้สถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามเครือข่าย” เป็นครั้งแรกในไทย ช่วงต้นปี 2564 เริ่มพื้นที่ กทม. ก่อนขยายไปทั่วประเทศ ช่วยให้ผู้ใช้รถ EV ใช้บัตร RFID เพียงใบเดียว ชำระค่าชาร์จไฟฟ้าได้ทุกค่าย และใช้ระบบแอพพลิเคชั่นหลัก เก็บฐานข้อมูลผู้ใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ เตรียมทดสอบระบบ “โมเดลการใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามเครือข่าย (Charging Consortium)” ต้นปี 2564 นี้ เริ่มพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นลำดับแรก โดยระบบดังกล่าวจะรองรับบัตร RFID ซึ่งเป็นบัตรสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่สามารถนำไปใช้ชำระค่าชาร์จไฟฟ้าได้กับทุกค่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า และจะมีการจัดทำระบบแอพพลิเคชั่นหลักเพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลผู้ใช้ให้เกิดมาตรฐานเดียวกันในการให้บริการ แก้ปัญหากรณีแต่ละค่ายฯ ต่างมีระบบแอพพิลเคชั่นการชำระเงินและการเก็บข้อมูลลูกค้าของตัวเองที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ใช้รถ EV อาจต้องมีการโหลดแอพพลิเคชั่นจำนวนมาก ไม่สะดวกกับการใช้บริการหลากหลายค่าย

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามขณะนี้สมาคมฯยังอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการใช้บัตร RFID ว่าจะเป็นรูปแบบใดระหว่างรูปแบบบัตรเดบิต หรือ เครดิต หรือแอพพลิเคชั่นผ่านมือถือ และอาจสรุปยอดการใช้บัตรส่งไปเก็บเงินที่บ้าน เป็นต้น ส่วนอัตราค่าชาร์จไฟฟ้าเบื้องต้นคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)กำหนดให้ใช้อัตราชั่วคราวที่ 2.60 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่สมาคมฯมองว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมกับปัจจุบันไปก่อน

ทั้งนี้หากระบบโมเดลดังกล่าวประสบผลสำเร็จ ทางสมาคมฯจะขยายผลไปยังสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่มีทั่วประเทศเพื่อให้เป็นระบบมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

สำหรับองค์กรที่ร่วมมือ กับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เพื่อร่วมพัฒนาโมเดลการใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามเครือข่าย มีทั้งสิ้น 11 องค์กร ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด บริษัท จีแอลทีกรีน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โชเซ่น เอ็นเนอร์จี้ จำกัด เเละ บริษัท เดอะ ฟิฟท์ อีลีเม้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

โดยข้อมูลสถิติของกรมการขนส่งทางบก (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. พ.ศ.2563) ระบุจำนวนจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle) หรือ BEV มีจำนวน 4,301 คัน และยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งแบบไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด (HyBrid/Plug-in Hybrid Electric Vehicle)  หรือ HEV/PHEV มีจำนวน 167,767 คัน และสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีจำนวนหัวจ่ายไฟฟ้ารวมกว่า 1,854 หัวจ่าย

นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า สมาคมฯ ยังได้หารือกับภาครัฐให้ขยายเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV ในไทยใหม่ จากเดิมรัฐกำหนดให้มีสัดส่วนการผลิตรถ EV ให้ได้ 30% ภายในปี 2573 เนื่องจากกระแสความต้องการใช้รถ EV มีเพิ่มขึ้น แต่ต้องการให้ภาครัฐพิจารณามาตรการอุดหนุนรถ EV มากขึ้น เช่น ลดต้นทุนราคารถยนต์ ทั้งด้านภาษีนำเข้า และให้มาตรการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น โดยปัจจุบันมีผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนรถ EV กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)บ้างแล้ว และคาดว่าจะเริ่มเห็นการประกอบรถEV ในไทยช่วง 3-4 ปีข้างหน้านี้

ส่วนกรณีนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการให้รถ EV สามารถนำไฟฟ้าส่วนเกินจากความต้องการใช้ไปขายเข้าระบบไฟฟ้าบ้านเรือนได้ เพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้าและรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ของประเทศนั้น คาดว่ายังไม่สามารถทำได้ภายใน 5 ปีจากนี้ เนื่องจากต้องเร่งให้มีการใช้รถEV อย่างแพร่หลายในประเทศก่อน จึงจะพิจารณาดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวต่อไป

 

 

 

Advertisment