“กกพ.” ร่วม 3 การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ทั้ง กฟน. กฟภ. และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรือ แถลงข่าวแสดงความพร้อมจ่ายคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้ากว่า23ล้านราย รวมวงเงิน 33,000ล้านบาท ได้ตั้งแต่ 31 มี.ค. นี้เป็นต้นไป แนะยื่นขอคืนทางระบบออนไลน์สะดวกที่สุด ไม่ต้องไปแออัดที่สำนักงานการไฟฟ้า เสี่ยงภัย COVID-19 ในขณะที่ผู้ไม่ใช้สิทธิ์ขอคืน จะได้รับการคืนเงินผลประโยชน์ทุกๆ5ปี
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ประกาศหลักเกณฑ์คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรื่อง“การคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก พ.ศ. 2563” จะมีผลบังคับใช้พรุ่งนี้ (20 มี.ค. 63) ซึ่งส่งผลให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ซึ่งได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรือ (กฟส.) จะต้องคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าว จำนวนกว่า 23 ล้านรายทั่วประเทศ ( เฉพาะผู้ใช้ของกฟภ. 19.5 ล้านราย )วงเงินรวมกว่า 33,000 ล้านบาท
โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแจ้งความประสงค์ขอรับคืน และให้ผู้บริการไฟฟ้าคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 ซึ่งต้องคืนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่วางหลักประกันตามประเภทของขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า และจะไม่มีการเรียกเก็บเงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหม่อีกต่อไป ยกเว้นกรณีเปลี่ยนประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าจากประเภทที่ 1 และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 ไปเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น
ทั้งนี้ จะเริ่มเปิดให้มีการตรวจสอบสิทธิ์ และทยอยคืนเงินประกันฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. เป็นต้นไป ในช่องทางออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ
นายประเทศ ศรีชมภู รองเลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า สำนักงานได้หารือร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเน้นการดำเนินการผ่านระบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นผู้วางเงินประกัน (ชื่อตรงกับบิลค่าไฟฟ้า)
“วันนี้ เราต้องคำนึงถึงสถานการณ์ของการแพร่ระบาด (COVID-19) ซึ่ง ครม. มีมติเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 ที่ให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง ป้องกัน และลดความเสี่ยงที่จะให้ประชาชนเดินทางและเข้าไปในสถานที่ ที่แออัด คับแคบ ดังนั้น เพื่อความสะดวกปลอดภัยในช่วงแรกนี้ ขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าใช้บริการผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง” นายประเทศ กล่าว
นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ในช่องทางของ กฟภ. ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถตรวจสอบสิทธิ์และลงทะเบียนการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าผ่านเว็บไซต์ https://dmsxupload.pea.co.th/cdp/ ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป โดยกรอกชื่อ นามสกุล หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า หมายเลขบัตรประชาชน ให้ครบถ้วน และส่งเอกสารหลักฐานผ่านระบบและรอรับเงินตามช่องทางการคืนที่ระบุ ผ่าน Prompt Pay บัญชีเงินฝากธนาคาร บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือรับเงินสด ที่สำนักงานการไฟฟ้าทั่วประเทศ ทั้งนี้ จะมี SMS ยืนยันผลการลงทะเบียน และแจ้งผลการคืนเงินให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบ โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเริ่มจ่ายเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ทาง กฟภ. ยังได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อตอบข้อซักถามและข้อสงสัยให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นจำนวน 90 คู่สาย ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1129
นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า กฟน. จะเปิดให้ตรวจสอบสิทธิ์ เพื่อขอรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืน ด้วยการอำนวยความสะดวกให้ครอบคลุมทุกกลุ่มประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ในช่องทางที่หลากหลายประกอบด้วย
ช่องทางที่ 1 ลงทะเบียนทางออนไลน์ (เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ตลอด 24 ชั่วโมง) ประกอบด้วยช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
แอปพลิเคชัน : MEA Smart Life
เว็ปไซต์ : www.mea.or.th
Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA
Twitter : @mea_news
Line : @meathailand
สแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า (ใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่จดเลขอ่านตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป) ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์จะได้รับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืนตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
ช่องทางที่ 2 ลงทะเบียนทางโทรศัพท์ที่หมายเลข 02-256-3333 จำนวน 50 คู่สาย (ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 – 29 พฤษภาคม 2563 เวลา 08.00 –15.30 น. ในวันทำการ)
ช่องทางที่ 3 ลงทะเบียน ณ ที่ทำการของการไฟฟ้านครหลวง 18 เขต (เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 จึงขอความร่วมมือเริ่มใช้ช่องทางนี้ได้ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป)
ในการลงทะเบียนทั้ง 3 ช่องทางดังกล่าว ผู้ขอคืนหลักประกันสามารถเลือกช่องทางการคืนเงินได้ 3 ช่องทางโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ดังนี้
ช่องทางที่ 1 บัญชีพร้อมเพย์ (Prompt Pay) เฉพาะที่ผูกกับหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ของผู้วางหลักประกัน
ช่องทางที่ 2 บัญชีธนาคารพาณิชย์ที่มีชื่อตรงกับผู้วางหลักประกันที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือธนาคารกสิกรไทย
ช่องทางที่ 3 เคาน์เตอร์เซอร์วิส (จำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาท)
นายจาตุรงค์ กล่าวด้วยว่า การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายมีความกังวลกรณีไม่มีเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้รองรับกรณีผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระค่าไฟฟ้า ซึ่งจะมีการหารือกับ กกพ.ถึงมาตรการบริหารจัดการที่ชัดเจนและประกาศให้ทราบต่อไป อย่างไรก็ตามในแต่ละปีที่ผ่านมามีผู้ไม่ชำระค่าไฟฟ้าประมาณ100 ล้านบาทต่อปี โดยมีการหักจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไป 80ล้านบาท และยังมีหนี้ค้างอีก 30ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC ) รายงานว่า สำหรับผู้ที่ไม่ได้สิทธิ์ขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ทางการไฟฟ้าจะมีการจ่ายคืนผลประโยชน์ให้ทุกๆ 5 ปี ตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน