พพ.ชูโครงการ CoDE@ASOKE ดึงอาคารย่านอโศกเชื่อมระบบ Digital Platform และติดตั้งIoT

714
- Advertisment-

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เตรียมเปิดโครงการ CoDE@ASOKE ดึงผู้ประกอบการอาคารย่านถนนอโศกมนตรี นำร่องใช้ระบบดิจิทัล ส่งข้อมูลผ่านระบบ Platform ที่ พพ.สร้างขึ้น เพื่อประมวลผลการใช้พลังงานแต่ละอาคารและให้ผู้ประกอบการนำไปปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมเตรียมวงเงิน 5 ล้านบาท ให้ผู้ร่วมโครงการติดตั้งระบบ Internet of Things(IoT)เชื่อมโยงข้อมูลกับ พพ. หวังช่วยลดปัญหาการจัดส่งเอกสารข้อมูลการใช้พลังงานอาคารใหม่ตามกฎหมาย  Building Energy Code: BEC ที่จะมีผลบังคับใช้ปี 2563 ระบุหากดำเนินการได้กับทุกอาคารใหม่และอาคารดัดแปลงในไทยจะช่วยลดการใช้พลังงานภาพรวมได้ 30% ก่อนเป้าหมายของกระทรวงพลังงานที่กำหนดไว้ในปี 2580

นายโกมล บัวเกตุ ผู้อำนวยการกองกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)เปิดเผยว่า พพ. เตรียมเปิดให้ผู้ประกอบการอาคารในพื้นที่ถนนอโศกมนตรีและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง“โครงการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานตามกฎหมายในภาคอาคารธุรกิจตามแผนพัฒนา Electronics Monitoring ในอาคารควบคุม”หรือ CoDE@ASOKE เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งจะเปิดรับประมาณปลายเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2562 นี้ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2562 ไม่เกิน 40% ของวงเงินลงทุนติดตั้งระบบ Internet of Things(IoT) แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย โดยมีวงเงินสำหรับโครงการดังกล่าวรวม 5 ล้านบาท

สำหรับโครงการนี้ เป็นการนำร่องทดลองใช้ระบบดิจิทัลผ่านระบบ Internet of Energy Platform ซึ่ง พพ.จะดำเนินการจัดทำ Platform ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานของแต่ละอาคารที่เข้าร่วมโครงการ และให้ผู้ประกอบการแต่ละอาคารทราบการใช้พลังงานของตัวเองที่เปรียบเทียบกับอาคารอื่นๆ  และจะส่งผลให้ผู้ประกอบการเกิดการปรับเปลี่ยนหรือจัดการพลังงานในอาคารให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ พพ.เลือกพื้นที่ถนนอโศกมนตรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอาคารหลากหลายประเภท เช่น อาคารธุรกิจ อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า  โรงพยาบาล โรงแรม สถานศึกษา ที่พักอาศัย และมีรถไฟฟ้าผ่าน ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะ(Smart city)ได้

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามการจัดทำ Platform ดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการอาคารแต่ละรายติดตั้งระบบ IoT เช่น การติดเซนเซอร์ตรวจวัดการใช้พลังงานในอาคาร และจัดส่งข้อมูลดังกล่าวมาให้ พพ. ผ่านระบบ Platform ซึ่งจะประมวลผลและวิเคราะห์การใช้พลังงานในแต่ละอาคารว่าเหมาะสมหรือไม่ และต้องปรับปรุงจุดไหน  จากนั้น พพ.จะส่งผลข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ประกอบการอาคารแต่ละรายได้ทราบโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการลดต้นทุนพลังงานแต่ละอาคารลง ขณะเดียวกัน พพ.จะได้รับข้อมูลการใช้พลังงานปัจจุบันที่ชัดเจนและแม่นยำของแต่ละอาคาร โดยในอนาคตหากจัดเก็บข้อมูลจากทุกอาคารในประเทศได้เกือบหมด จะส่งผลให้ภาครัฐสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปวางแผนนโยบายพลังงานได้เหมาะสมมากขึ้นด้วย

สำหรับเหตุผลที่ พพ.จัดทำ Platform ดังกล่าวขึ้น เนื่องจากคาดว่ากฎหมาย “เกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการประหยัดพลังงาน(Building Energy Code: BEC)” สำหรับอาคารใหม่และอาคารดัดแปลงเฉพาะเนื้อที่ขนาด 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค.2563 นี้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดให้อาคารสร้างใหม่ ต้องส่งรายงานการใช้พลังงานมาให้ พพ.ช่วงเดือนม.ค.- มี.ค. เป็นประจำทุกปี เบื้องต้นคาดว่าจะมีจำนวน 2,000 อาคารที่ต้องจัดส่งเอกสาร ซึ่งเป็นข้อมูลจำนวนมากและต้องใช้เวลานานกว่าจะตรวจสอบข้อมูลให้ครบ ดังนั้นหากนำระบบ Platform มาใช้ จะช่วยให้เก็บข้อมูลการใช้พลังงานได้แบบเรียลไทม์และประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ยังเป็นการรองรับกฎหมาย BEC ดังกล่าวที่จะครอบคลุมไปถึงอาคารสร้างใหม่และอาคารดัดแปลงขนาดเนื้อที่ 5,000 ตารางเมตร ประมาณปี 2564 และครอบคลุมอาคารสร้างใหม่และอาคารดัดแปลงขนาดเนื้อที่ 2,000 ตารางเมตร ในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นแห่ง ที่ต้องส่งรายงานการใช้พลังงานประจำปีมาให้กับ พพ. โดยหากอาคารทั้งหมดดังกล่าวสามารถเข้าระบบประมวลผลจาก Platform สำเร็จ คาดว่าจะช่วยให้ประเทศไทยเกิดการประหยัดพลังงานได้ 30% จากการใช้พลังงานทั้งหมด ซึ่งจะเร็วกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ในแผนอนุรักษ์พลังงาน(EEP) ปี 2580

Advertisment