เอกชนแห่ยื่นขายไฟฟ้าโครงการโซลาร์เซลล์​และพลังงานลม เกินเป้า

1986
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปิดรับคำเสนอขายไฟฟ้าโครงการพลังงานหมุนเวียน 5,203 เมกะวัตต์แล้ว สำนักงาน กกพ. ประกาศขยายเวลายื่นเอกสารได้ถึง 30 พ.ย. 2565 และเลื่อนประกาศรายชื่อผู้ชนะเป็น 22 มี.ค. 2566 แทน เบื้องต้นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลม,โซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์เซลล์รวมแบตเตอรี่ แห่ร่วมโครงการคึกคักเกินโควต้ารับซื้อ  ยกเว้นก๊าซชีวภาพ ต่ำกว่าเป้าหมาย มีผู้เสนอขายไม่ถึง 50 เมกะวัตต์ จากการเปิดรับซื้อ 335 เมกะวัตต์ เหตุราคารับซื้อต่ำ ผู้ประกอบการรอเก็บไว้ขายในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแทน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานความคืบหน้าโครงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) พ.ศ. 2565-2573 สำหรับเชื้อเพลิง 4 ประเภท ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม), ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย),พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 5,203  เมกะวัตต์ ว่า ภายหลังครบกำหนดการเปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าทั้ง 4 ประเภทดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 เบื้องต้นปรากฎว่า เชื้อเพลิงประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการไม่ถึง 50 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าเป้าหมายที่เปิดรับซื้อ 335 เมกะวัตต์

เบื้องต้นเกิดจากผู้ประกอบการเห็นว่าราคารับซื้อไฟฟ้าต่ำเกินไปเพียง 2.0724 บาทต่อหน่วย จึงรอไปขายในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ภาครัฐจะเปิดรับซื้อในเฟสต่อไปแทน ซึ่งได้ราคาอยู่ที่ประมาณ 3-4 บาทต่อหน่วย

- Advertisment -

ส่วนเชื้อเพลิงประเภทลม ที่เปิดรับซื้อ 1,500  เมกะวัตต์ ,แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์ และแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 1,000 เมกะวัตต์  มีการเสนอขายไฟฟ้าเข้ามาจำนวนมาก เกินกว่าโควต้าที่เปิดรับซื้อไว้ทั้งหมด  แม้ราคารับซื้อจะไม่สูงมากนัก แต่ผู้ประกอบการเลือกที่จะเข้าร่วมโครงการขายไฟฟ้ารอบนี้ เนื่องจากไม่แน่ใจว่า ภาครัฐจะเปิดรับซื้ออีกเมื่อไหร่

โดยราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม อยู่ที่ 3.1014 บาทต่อหน่วย , พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2.1679 บาทต่อหน่วย และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน อัตรา 2.8331 บาทต่อหน่วย  ทั้งนี้การที่ภาครัฐกำหนดราคารับซื้อไว้ต่ำ เนื่องจากต้องการนำมาใช้ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าประชาชนในอนาคต

อย่างไรก็ตามการมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมากดังกล่าว ส่งผลให้มีการยื่นเอกสารเสนอขายไฟฟ้าไม่ทัน แม้จะได้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าเข้ามาแล้วก็ตาม ทางสำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จึงได้ออกประกาศ ขยายเวลาในการส่งเอกสาร จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 25 พ.ย. 2565 ขยายเป็น 30 พ.ย. 2565 พร้อมเลื่อนการประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติจากการไฟฟ้า จากเดิมจะประกาศวันที่ 2 ธ.ค. 2565 เป็น 9 ธ.ค. 2565 และเลื่อนเวลาที่ สำนักงาน กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกจาก 15  มี.ค. 2566 เป็น 22 มี.ค. 2566 แทน

สำหรับรายละเอียดการเปิดรับซื้อไฟฟ้าแต่ละประเภท กำหนดไว้ดังนี้ 1. ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ที่ใช้กระบวนการย่อยสลายทางชีววิทยาแบบไม่ใช้อากาศภายในบ่อหมัก เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญา ที่ไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า ( Non-Firm) จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายระหว่าง 10-90 เมกะวัตต์  หรือผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์  และมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี

นอกจากนี้ได้กำหนดเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 335 เมกะวัตต์ โดยแบ่งปีสำหรับเปิดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบดังนี้ ปี 2569 จำนวน 75 เมกะวัตต์ , ปี 2570 จำนวน 75 เมกะวัตต์ ,ปี 2571 จำนวน 75 เมกะวัตต์, ปี 2572 จำนวน 70 เมกะวัตต์ และปี 2573 จำนวน 40 เมกะวัตต์ 

2. พลังงานลม เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญา Non-Firm จากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP หรือ VSPP โดยมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี  และกำหนดเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 1,500 เมกะวัตต์ โดยจะเข้าระบบตั้งแต่ปี 2568-2573 ปีละ 250 เมกะวัตต์

3.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญา Non-Firm จากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP หรือ VSPP โดยมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี  และกำหนดเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 2,368 เมกะวัตต์ โดยจะเข้าระบบ ดังนี้ ปี 2567 จำนวน 190 เมกะวัตต์ , ปี 2568 จำนวน 290 เมกะวัตต์ , ปี 2569 จำนวน 258 เมกะวัตต์ , ปี 2570  จำนวน 440 เมกะวัตต์ , ปี 2571 จำนวน 490 เมกะวัตต์ , ปี  2572 จำนวน 310 เมกะวัตต์ และ ปี  2573 จำนวน  390 เมกะวัตต์

และ 4. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) เปิดรับซื้อในรูปแบบสัญญา Partial-Firm (แบ่งตามช่วงเวลาและปริมาณขายไฟฟ้า) จากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP เท่านั้น โดยมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี  โดยเปิดรับซื้อรวม 1,000 เมกะวัตต์  แบ่งเป็นการรับซื้อระหว่างปี 2567-2570 จำนวนปีละ 100 เมกะวัตต์ และปี 2571-2573 จำนวนปีละ 200 เมกะวัตต์

สำหรับสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าแบบ  FiT จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่  1. สัญญาที่ไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า ( Non-Firm) สำหรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย), พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ 

โดย มติ กพช. เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 กำหนดอัตรารับซื้อ FiT พลังงานหมุนเวียน สำหรับปี 2565-2573 ได้แก่ 1.) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) อัตรา 2.0724 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี  2.)พลังงานลม อัตรา 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี 3.) พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี  

และ 4. กลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน จะรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP ในรูปแบบสัญญา Partial-Firm (แบ่งตามช่วงเวลาและปริมาณขายไฟฟ้า) ที่ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ อัตรา 2.8331 บาทต่อหน่วย ระยะสัญญา 25 ปี

สำหรับโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี ) ให้ได้รับอัตรา FiT Premium 0.5 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ

ส่วนสัญญา Partial-Firm คือ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่กำหนดรูปแบบการผลิตและรับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ 1.ช่วงเวลา 9.00-16.00 น. ผลิตไฟฟ้าส่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณ 100% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า  2.ช่วงเวลา 18.01-06.00 น. มีความพร้อมส่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปริมาณพลังงานเท่ากับ 60% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยที่การไฟฟ้ารับซื้อทั้งหมดและสามารถสั่งจ่ายกำลังไฟฟ้าสูงสุดได้ไม่เกิน 60% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และ 3. ช่วงเวลา 06.01-09.00 น. และ 16.01-18.00 น. ผลิตไฟฟ้าสั่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณไม่เกิน 100% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

Advertisment