ผลจากนโยบายตรึงราคาดีเซล ทำยอดใช้ดีเซลเฉลี่ย 8 เดือน ปี 2567 เพิ่ม 3.2 %

269
- Advertisment-

ผลจากนโยบายตรึงราคาดีเซล ทำยอดใช้ดีเซล 8 เดือน ปี 2567 เพิ่ม 3.2 % ส่วนกลุ่มเบนซินรัฐไม่มีการตรึงราคา ยอดปรับลดลง 0.7 % ในขณะที่น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 17.3 % สะท้อนถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนยอดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1.04 ล้านบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 0.5%


นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยในรอบ 8 เดือน ระหว่างเดือนมกราคม–สิงหาคม 2567 อยู่ที่ 156.37 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.0 โดยกลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 0.7 ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับ ดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ รวมทั้งมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาล น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 ขยายตัวจากการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจจากปีก่อนประกอบกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ขณะที่น้ำมันเตาลดลงร้อยละ 16.4 ส่วน NGV ลดลงร้อยละ 17.1 โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และการใช้ LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4

รายละเอียดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดในเดือนมกราคม – สิงหาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีดังนี้

- Advertisment -

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.65 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 0.7 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการขยายและเชื่อมต่อรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑลและรถไฟระหว่างเมือง จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าทั้ง BEV HEV และ PHEV ขยายตัวอย่างต่อเนื่องคิดเป็นร้อยละ 5.1 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน  รวมถึงราคาขายปลีกที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาเป็นรายชนิดประกอบด้วย แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลงมาอยู่ที่ 17.77 ล้านลิตร/วัน แต่ยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดที่ร้อยละ 56.2 รองลงมาคือแก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.59 ล้านลิตร/วัน เป็นผลจากราคาขายปลีกของแก๊สโซฮอล์ 91 ที่มีราคาต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.01 บาท/ลิตร (ม.ค.-ส.ค. 66 เฉลี่ย 0.27 บาท/ลิตร) ประชาชนบางส่วนจึงหันไปใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แทน สำหรับแก๊สโซฮอล์ อี 20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.48  ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.42 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี 85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.07 ล้านลิตร/วัน 

การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 67.48 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ประกอบด้วย

ดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 67.33 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเติบโตของภาคการขนส่ง สำหรับดีเซลหมุนเร็วบี 20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.15 ล้านลิตร/วัน ทั้งนี้รัฐบาลยังคงมีมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ในขณะที่ดีเซลพื้นฐาน ลดลงมาอยู่ที่ 1.80 ล้านลิตร/วัน โดยน้ำมันกลุ่มดีเซลภาพรวมอยู่ที่ 69.28 ล้านลิตร/วัน 

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 15.61 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยว ผลจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราโดยมีเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยกว่า 35 ล้านคนภายในปี 2567 

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 18.81 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ประกอบด้วยภาคปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.76 ล้าน กก./วัน โดยดัชนีผลผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเดือนกรกฎาคม ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.74 ล้าน กก./วัน และภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.32 ล้าน กก./วัน ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรม ลดลงมาอยู่ที่ 1.99 ล้าน กก./วัน

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.85 ล้าน กก./วัน ลดลงร้อยละ 17.1 โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนรถยนต์จดทะเบียน NGV สะสม และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง ทั้งนี้ ปตท. ยังคงช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 (1 กรกฎาคม 2567 – 31 ธันวาคม 2568) 

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,049,118 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 99,254 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 983,502 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 94,516 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 65,615 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 12.6 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 4,738 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 171,566 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 17,544 ล้านบาท/เดือน

Advertisment