บางจากฯ นำร่องใช้ระบบ Blockchain ประมูลซื้อขายไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปบวกแบตเตอรี่

2585
- Advertisment-

บางจากฯ เดินหน้าโครงการนำร่องระบบการผลิตและซื้อขายไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปด้วยวิธีประมูลผ่านเทคโนโลยี Blockchain ระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าภายในปั๊มบางจาก ศรีนครินทร์ โดยมีกำลังการผลิต 279 กิโลวัตต์ พร้อมติดตั้งแบตเตอรี่สำรองขนาด 1 เมกะวัตต์ ใหญ่สุดในประเทศไทยขณะนี้ ชี้ค่าไฟฟ้าถูกลงเฉลี่ย 3-4 บาทต่อหน่วย และเป็นการนำร่องให้เห็นทิศทางการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า บางจากฯ ได้ดำเนินโครงการระบบบริหารจัดการพลังงานชุมชนสีเขียว (Green Community Energy Management System – GEMS) หรือ สถานีบริการน้ำมันที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งเป็นระบบผลิตไฟฟ้าและซื้อขายกันเองแบบประมูล ระหว่างอาคาร ร้านค้าต่างๆ และภายในสถานีบริการน้ำมันบางจาก ศรีนครินทร์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันแห่งแรกที่บางจากฯ จัดทำระบบ GEMS ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ทดลองและการเรียนรู้เกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยโครงการ GEMS ดังกล่าว จะผลิตไฟฟ้าด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของสถานีบริการน้ำมัน รวมทั้งหลังคาที่จอดรถ และอาคารร้านซุเปอร์มาร์เก็ต SPAR รวมขนาด 249 กิโลวัตต์ และจัดตั้งระบบระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมอิออน ขนาด 1 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่สุดของไทยในขณะนี้

- Advertisment -

โดยในช่วงกลางคืนเวลา 01.00-04.00 น. โครงการฯ จะซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อชาร์จในแบตเตอรี่ด้วย เนื่องจากเป็นช่วงที่เกิดการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนซึ่งมีต้นทุนต่ำ ค่าไฟฟ้าจะมีราคาถูกประมาณกว่า 2 บาทต่อหน่วย ต่ำ กว่าช่วงกลางวันที่เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ซึ่งค่าไฟฟ้าจะอยู่ประมาณ 5.60 บาทต่อหน่วย (เป็นการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าตามระบบ TOU หรือ Time of Use Rate ของไทย ซึ่งคิดค่าไฟฟ้าแตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้)  ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมในระบบแบตเตอรี่ มีราคาถูกกว่าค่าไฟฟ้าของภาครัฐ

ทั้งนี้ ไฟฟ้าที่เก็บสำรองในแบตเตอรี่ดังกล่าว จะถูกนำมาประมูลทุกๆ 15 นาทีตลอดทั้งวัน ผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Auction Exchange คล้ายการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ด้วยเทคโนโลยี Blockchain เพื่อให้ผู้ใช้ที่อยู่พื้นที่สถานีบริการน้ำมันดังกล่าวมาประมูลใช้ไฟฟ้าที่ราคาถูกประมาณ 3-4 บาทต่อหน่วย (ผู้ที่ประมูลไม่ได้จะต้องใช้ไฟฟ้าจาก กฟน. ซึ่งมีราคาแพงกว่า) ทั้งนี้ ราคาประมูลขั้นต่ำจะถูกคำนวณด้วยระบบสมองกลอัจฉริยะ (AI) และมาเปิดประมูลให้แก่ผู้ใช้ที่อยู่ภายในสถานีบริการน้ำมันดังกล่าว

อย่างไรก็ตามอาคารและร้านค้าในสถานีบริการน้ำมันแห่งนี้มีการใช้ไฟฟ้าประมาณ  1,000 หน่วยต่อวัน ซึ่งเชื่อว่าแบตเตอรี่สำรองดังกล่าวสามารถรองรับความต้องการใช้ของผู้ประมูลได้ทั้งวัน

แหล่งข่าวเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปริมาณการผลิตไฟฟ้าในแต่ละวันจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับแสงแดดเป็นหลัก โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะนำออกมาประมูล เช่น หากผลิตได้ 1,000 หน่วย และทางร้านอาหารแห่งหนึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้า 200 หน่วยต่อวัน ก็จะประมูลไปเพียงเท่านั้น และเหลือปริมาณสำรองไฟฟ้าให้ผู้ประมูลรายต่อไป ซึ่งการประมูลดังกล่าวนี้ เพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา และยังอยู่ระหว่างการทดสอบระบบต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบการผลิตและซื้อขายไฟฟ้ากันเองเกิดขึ้นได้จริง หากประสบผลสำเร็จจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะต่อยอดต่อไปอย่างไร

Advertisment