ปลัดพลังงานลงพื้นที่แก้ปัญหาวิกฤตไฟฟ้าที่เกาะสมุย

503
- Advertisment-

ปลัดพลังงานลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาวิกฤตไฟฟ้าที่เกาะสมุย สุราษฏร์ธานี จับมือ กฟผ.และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคระดมติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่เสริมกำลังการผลิต พร้อมแจ้งประสานขอความร่วมมือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้าช่วงพีค ลดดีมานด์ลง ในช่วงระหว่างรอการดำเนินโครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลมูลค่า 11,230 ล้านบาทที่จะแล้วเสร็จในปี 2571

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน และเป็นประธานบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วย นายธีรวุฒิ เวทะธรรม รองผู้ว่าการพัฒนาระบบส่ง กฟผ. และดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด ( มหาชน ) หรือ EGCO Group ลงพื้นที่โรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาวิกฤตไฟฟ้าที่เกาะสมุย สุราษฏร์ธานี โดยร่วมประชุมกับทั้งผู้แทนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราชและพลังงานจังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งปลัดพลังงานได้เผชิญกับปัญหาไฟฟ้าตกและดับในโรงแรมที่พักด้วยตัวเองที่เกาะสมุยในวันเดียวกันที่ลงพื้นที่

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นั่งเป็นประธานในการประชุมร่วมกับผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

โดย ดร.ประเสริฐ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่ร่วมเดินทางไปทำข่าวว่า ปัญหาวิกฤตไฟฟ้าที่เกาะสมุยจะเกิดขึ้นในช่วงที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของวัน หรือช่วงพีค โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ที่เป็นไฮซีซั่น เพราะเกาะสมุยเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทย ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวบนเกาะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ซัพพลายไฟฟ้าบนเกาะยังมีไม่เพียงพอรองรับความต้องการ   

- Advertisment -
ดร.ประเสริฐ (ที่สองจากซ้าย) พร้อมด้วยนายธีรวุฒิ รองผู้ว่าการพัฒนาระบบส่ง กฟผ.(ที่หนึ่งจากซ้าย)และดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด ( มหาชน )(ที่สามจากซ้าย) ระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ร่วมเดินทางไปทำข่าว

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเล ซึ่ง กฟผ.เป็นผู้ลงทุน ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566  เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตไฟฟ้าบนเกาะสมุยนั้น จะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2571  ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ทางกระทรวงพลังงาน กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ในการรวบรวมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่ได้ หรือ Mobile Generators ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมาติดตั้งบนเกาะเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยเสริมกำลังการผลิตได้อีกประมาณ 10 เมกะวัตต์ในช่วงที่เกิดพีคไฟฟ้าของแต่ละวัน  อย่างไรก็ตามในส่วนของการบริหารจัดการดีมานด์จะได้แจ้งประสานขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมบนเกาะให้ช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้า เพื่อลดดีมานด์ลง หรือติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อเพิ่มซัพพลายกำลังผลิตของตัวเอง 

นายธีรวุฒิ เวทะธรรม รองผู้ว่าการพัฒนาระบบส่ง กฟผ. กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลของ กฟผ.นั้น เริ่มมีการศึกษาและจัดทำรายงานความเหมาะสมของโครงการมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีมูลค่าโครงการที่รวมสถานีไฟฟ้าและระบบสายเคเบิ้ลใต้น้ำรวม 11,230 ล้านบาท ถือเป็นโครงการเคเบิ้ลใต้น้ำโครงการแรกของ กฟผ. มีขนาดแรงดันไฟฟ้า 230 KV ระยะทางจากจุดบนฝั่งโรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึง จุดขึ้นเกาะสมุย รวม 48 กิโลเมตร ซึ่งตามแผนงานคาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้ในเดือนมิถุนายน 2568 หากดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนวงจรที่ 1 ในเดือนมิถุนายน 2571 และ วงจรที่ 2 แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2572 จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตไฟฟ้าบนเกาะสมุยและรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าบนเกาะที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้ 

ที่ผ่านมาไฟฟ้าที่ใช้บนเกาะสมุย ถูกส่งผ่านด้วยสายเคเบิ้ลใต้น้ำของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขนาดแรงดัน 115 KV และ 33 KV จากสถานีไฟฟ้าแรงสูงขนอม รวม 4 วงจรและมีอายุการใช้งานค่อนข้างมาก ไม่สามารถส่งจ่ายไฟฟ้าได้เต็มกำลังความสามารถ และเกิดการชำรุดบ่อยครั้ง ไม่เพียงพอรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าบนเกาะที่เพิ่มขึ้น และทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับนานและเป็นบริเวณกว้าง ถึง 3 ครั้ง จึงจำเป็นต้องมีโครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเล ที่มีระดับแรงดันไฟฟ้าที่สูงขึ้นเพื่อส่งกำลังกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น โดยอยู่ในความรับผิดชอบของ กฟผ. เข้ามาช่วย

ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด ( มหาชน )กล่าวว่า ทาง EGCO Group ซึ่งมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ขนอม กำลังผลิต 930 เมกะวัตต์ อยู่ใกล้พื้นที่ มีความพร้อมในการอำนวยความสะดวกให้เป็นจุดวางสายส่งระบบเคเบิ้ลใต้น้ำของ กฟผ.ไปยังเกาะสมุย รวมทั้งการเตรียมแผนขยายกำลังการผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้กับพื้นที่ภาคใต้ หากมีการเปิดให้มีการประมูลแข่งขันราคาตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือแผนพีดีพีฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแผน

ไทม์ไลน์การดำเนินการโครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลของ กฟผ.ที่นำเสนอต่อปลัดกระทรวงพลังงานระหว่างการลงพื้นที่จุดสร้างสถานีไฟฟ้าบนเกาะสมุย
ช่วงกลางวันบนเกาะสมุยที่ดูคึกคักและการจราจรหนาแน่น
บรยากาศการท่องเที่ยวช่วงกลางคืนบนเกาะสมุยที่กลับมาคึกคักและทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
Advertisment