ได้ข้อยุติแล้ว ค่าไฟฟ้างวดสิ้นปี 65 พุ่งเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ตามมติ กกพ. ปลัดพลังงานเร่งหามาตรการช่วยลดผลกระทบประชาชน

1934
- Advertisment-

ได้ข้อยุติแล้วค่าไฟฟ้างวดสิ้นปี 65 พุ่งขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย โดยปลัดกระทรวงพลังงานยืนยันต้องปรับตามมติบอร์ดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ระบุนายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงและให้กระทรวงพลังงานเร่งหามาตรการช่วยลดผลกระทบประชาชน

นายกุลิศ  สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย. –ธ.ค. 2565 ว่า เบื้องต้นในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ยังคงจะต้องเป็นไปตามมติของ คณะกรรมการ (บอร์ด) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  ที่มีมติปรับขึ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย  เนื่องจากทาง กกพ.ได้พิจารณาตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นจากหลายปัจจัย

ส่วนการเลื่อนแถลงข่าวการปรับอัตราค่าไฟ Ft ออกไปจากกำหนดเดิมจะแถลงวันที่ 5 ส.ค. 2565 โดยเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนดนั้น เข้าใจว่าทาง กกพ.คำนึงถึงประเด็นหลักที่ นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบกับประชาชน จึงต้องการรอความชัดเจนของภาครัฐที่จะกำหนดแนวทางช่วยลดผลกระทบให้กับภาคประชาชนที่ชัดเจนก่อน ขณะที่กระทรวงพลังงานก็อยู่ระหว่างประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย   

- Advertisment -

“กระทรวงพลังงาน กำลังหารือกับ กกพ. เพื่อวางมาตรการช่วยเหลือ ว่าจะมีลักษณะอย่างไรถึงจะเหมาะสม เพราะอัตราที่ปรับขึ้นค่อนข้างสูง รวมถึงการหาแนวทางแก้ปัญหาภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ได้เข้ามาช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าด้วย  แต่ยังคงต้องหารูปแบบการช่วยเหลือว่าจะเป็นอย่างไร ใช้งบประมาณจากแหล่งไหน หรือ อาจจะอยู่ในรูปแบบเงินกู้”

ผู้สื่อข่าว​ศูนย์ข่าว​พลังงาน ​( Energy News Center-ENC)​ รายงานว่า​บอร์ด กกพ. ได้ประชุมไปเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 และมีมติสรุปให้ค่า Ft  งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 เพิ่มขึ้น  68.66 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเป็นต้นทุนที่แท้จริงตามราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น และเมื่อรวมกับค่า Ft งวดปัจจุบัน (พ.ค. –ส.ค. 2565) ที่เก็บอยู่  24.77 สตางค์ต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่า Ft โดยรวมในเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อนำมารวมกับค่าไฟฟ้าฐานประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย นับเป็นอัตราที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ นายกุลิศ ยังกล่าวถึงกรณีท่อก๊าซธรรมชาติแหล่งซอติก้า ในประเทศเมียนมาเกิดรอยรั่ว ทำให้ต้องหยุดส่งก๊าซฯ จากเมียนมามายังประเทศไทย 2 สัปดาห์ ส่งผลให้ก๊าซฯ หายไปจากระบบประมาณ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันว่า ขณะนี้ ทางบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กำลังเร่งดำเนินการเข้าสำรวจและผลิตในแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเพิ่มขึ้น  โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ และป้องกันไม่ให้ส่งผ่านมายังค่าไฟฟ้า รวมถึงไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ 

Advertisment