ปตท.สผ.หวังรัฐเจรจา OCA สำเร็จ พร้อมร่วมดำเนินการแหล่งก๊าซฯ ไทย-กัมพูชา

616
- Advertisment-

ปตท.สผ. ยืนยันนโยบายลดค่าไฟฟ้าของภาครัฐ ไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ และไม่จำเป็นต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำรองล่วงหน้า ชี้หากรัฐแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซฯ ใหม่ได้ ถือเป็นโอกาสดีของ ปตท.สผ. ที่จะเข้าไปร่วมดำเนินการผลิต พร้อมคาดราคาก๊าซฯ เฉลี่ยทั้งปี 2567 อยู่ที่ 5.6-5.9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และเร่งทบทวนแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2567-2571) ใหม่ คาดเสร็จ ธ.ค. 2566 นี้

นายสัมฤทธิ์ สำเนียง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงกรณีที่ภาครัฐมีนโยบายดูแลอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ และไม่จำเป็นต้องจัดเตรียมค่าใช้จ่ายสำรองไว้ในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็เข้าใจว่าภาครัฐนอกจากจะให้ความสำคัญด้านการดูแลเรื่องต้นทุนพลังงานให้กับประชาชนแล้ว ก็ยังมองเรื่องการดูแลความมั่นคงทางพลังงานของประเทศด้วย โดยเฉพาะการรักษาอัตราการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย และการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซใหม่ๆ อย่างเช่น การผลักดันการเจรจาแก้ปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา หรือ Overlapping Claims Area – OCA ที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาแหล่งก๊าซฯ ใหม่ในอนาคต และ ปตท.สผ. ก็จะมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเรื่องนี้ด้วย

สำหรับในงาน “Opportunity Day หรือ Opp day ไตรมาส 3/2023 PTTEP” ที่จัดขึ้นในวันที่ 2 พ.ย. 2566 นี้ ทาง ปตท.สผ. ระบุว่า แนวโน้มราคาก๊าซฯ ในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 5.6-5.9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ลดลงจากปี 2566 ที่คาดการณ์ว่าราคาก๊าซฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปี 2567 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 70-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากปี 2566 ที่เฉลี่ย 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบไม่เป็นไปในกรอบที่คาดการณ์ไว้ก็จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนของบริษัทฯ  

- Advertisment -

ขณะที่แผนการลงทุนของบริษัทในปี 2567 ซึ่งตามแผนการลงทุน 5 ปีฉบับปัจจุบัน (ปี 2566-2570) งบรวมอยู่ที่ 29,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,006,676 ล้านบาทนั้น ในปี2567 คาดว่าจะใช้งบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ ประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และการพัฒนาโครงการฯ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน และโครงการ SK 410 B ในมาเลเซีย เป็นต้น

“บริษัท อยู่ระหว่างการจัดทำแผนลงทุน 5 ปี(ปี 2567-2571) ฉบับใหม่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2566 นี้ และจะทำให้เห็นความชัดเจนของกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปี 2570-2571ที่จะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขายปิโตรเลียมของบริษัทฯ ด้วย อีกทั้งบริษัทฯ ยังคงมองเรื่องของการเข้าซื้อกิจการ M&A ในโครงการก๊าซต้นทุนต่ำ เพื่อรักษาการทำกำไรในอนาคต”

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในปี2567 คาดว่าปริมาณการขายปิโตรเลียมจะเติบโตขึ้นจากปี 2566 อยู่ที่ 510,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ตามที่ประเมินไว้ในแผนลงทุน 5 ปีฉบับปัจจุบัน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 463,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณ(G1/61) จากปัจจุบันอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในวันที่ 1 เม.ย. 2567

นอกจากนี้ยังรวมถึงการเร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งอื่นๆ มาทดแทน เช่น แหล่งบงกช(G2/61) ที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 860 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สูงกว่าเงื่อนไขสัญญา PSC ที่กำหนดปริมาณการผลิตขั้นต่ำอยู่ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยบริษัทฯ จะรักษาอัตราการผลิตก๊าซฯ ทั้ง 2 แหล่งดังกล่าวตามเงื่อนไข PSC ต่อเนื่องไปอีก 10 ปี อีกทั้งบริษัทฯ ยังเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งอาทิตย์ ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นายสัมฤทธิ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่อยู่ในมือของบริษัทฯ ว่า ในส่วนของโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโมซัมบิก ปัจจุบันสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ โดยขยับเป้าหมายส่งมอบก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ลำแรกเป็นช่วงครึ่งแรกของปี 2571 จากเดิมภายในปี 2570

โครงการเจาะหลุมสำรวจ ลัง เลอบาห์-2 ในโครงการซาราวักเอสเค 410 บี คาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ได้ช่วงต้นปี 2567 และเริ่มการผลิตครั้งแรกในช่วงครึ่งแรกของปี 2571

ขณะที่โครงการแคช-เมเปิลที่ออสเตรเลีย อยู่ระหว่างดำเนินการขาย โดยได้ตกลงราคาเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างส่งเรื่องให้รัฐบาลออสเตรเลียพิจารณา คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ในช่วงสิ้นปี 2566 นี้

น.ส.อารดา วิชญวาณิช ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มทิศทางการดำเนินงานในไตรมาส 4 ปี2566 ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ คาดว่าจะอ่อนตัวลงจากราคาเฉลี่ยไตรมาส 3 อยู่ที่ 87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากประเทศตะวันตกเข้าสู่ฤดูหนาวทำให้มีการเดินทางลดลง ประกอบกับนโยบายการเงินในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงด้วย

ขณะที่ทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) คาดว่าจะสวนทางกับราคาน้ำมันดิบ โดยเฉลี่ยทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ 13-14 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากราคาเฉลี่ยไตรมาส 3 อยู่ที่ 12.5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เนื่องจากประเทศตะวันตกเข้าสู่ฤดูหนาวจึงมีการนำเข้า LNG เพื่อเก็บสำรองมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่คาดว่าจะต้องมีการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินธุรกิจใหม่ของบริษัทฯ ในส่วนของธุรกิจ Carbon Solutions บริษัทฯ อยู่ระหว่างพิจารณาเข้าลงทุนธุรกิจให้บริการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) สำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่รอบๆ อ่าวไทย โดยจะเป็นลักษณะการเข้าไปให้บริการขนย้ายคาร์บอนไดออกไซด์ของนิคมฯ ต่างๆ ไปกักเก็บในหลุมปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งลูกค้ากลุ่มแรกจะเป็นในกลุ่ม ปตท.

Advertisment