ปตท.สผ. ขึ้นแท่นบริษัทE&Pอันดับ3ในมาเลเซียหลังซื้อกิจการ เมอร์ฟี่ ออยล์

1381
- Advertisment-

ปตท.สผ. เข้าซื้อกิจการของ เมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในประเทศมาเลเซีย ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2,127 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณขายปิโตรเลียมขึ้นได้ 15% สร้างผลตอบแทนการลงทุนได้ทันที ขณะเดียวกันยังชนะการประมูลสิทธิการสำรวจปิโตรเลียมอีก 2 แปลง ซึ่งช่วยผลักดันให้ ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายใหญ่ อันดับ 3 ของมาเลเซีย

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัท พีทีทีอีพี เอชเค ออฟชอร์ จำกัด (PTTEP HK Offshore Limited) หรือ พีทีทีอีพี เอชเคโอ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทย่อยของ เมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ได้แก่ บริษัท เมอร์ฟี่ ซาบาห์ ออยล์ จำกัด และบริษัท เมอร์ฟี่ ซาราวัก ออยล์ จำกัด

- Advertisment -

โดยการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ ครอบคลุมแหล่งน้ำมันและแหล่งก๊าซธรรมชาติ จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการซาบาห์ เค, โครงการเอสเค 309 และเอสเค 311, โครงการซาบาห์ เอช, โครงการเอสเค 314 เอ และโครงการเอสเค 405 บี รวมทั้ง สินทรัพย์ต่างๆ ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้ใช้เงินจากกระแสเงินสดของบริษัทในการเข้าซื้อกิจการ คาดว่าการซื้อขายจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 2 ของปี 2562 และจะสามารถเพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมตามสัดส่วนการลงทุนของ ปตท.สผ. ได้ทันทีประมาณ 48,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือประมาณ 15% เมื่อเทียบกับปริมาณการขายในปัจจุบัน และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้ทันทีด้วยเช่นกัน

สำหรับโครงการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้ง 5 โครงการ ตั้งอยู่ในบริเวณรัฐซาบาห์และรัฐซาราวัก โดยมีโครงการที่อยู่ในระยะผลิต ได้แก่ โครงการซาบาห์ เค, โครงการเอสเค 309 และเอสเค 311 ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ ถือเป็นโครงการสำคัญขนาดใหญ่ และ ปตท.สผ. จะเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการโครงการทันที โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 100,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และจะเพิ่มเป็นประมาณ 140,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ในอีก 4 ปีข้างหน้า จากโครงการซาบาห์ เอช ที่มีแผนจะเริ่มการผลิตในช่วงครึ่งหลังปี 2563 โดยจะผลิตก๊าซธรรมชาติปริมาณ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ให้กับโครงการ FLNG2 ของปิโตรนาส นอกจากนี้ ยังมีโครงการเอสเค 314 เอ โครงการเอสเค 405 บี ซึ่งอยู่ในระยะสำรวจ โดยมีแผนงานที่จะทำการวัดคลื่นไหวสะเทือน และเจาะหลุมสำรวจในอนาคต

ชนะประมูลอีก 2 แปลงในมาเลเซีย

นอกจากนี้ ปตท.สผ. โดยพีทีทีอีพี เอชเคโอ ยังได้ร่วมกับบริษัท ปิโตรนาส ชาริกาลี จำกัด ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contracts) กับบริษัท ปิโตรเลียม เนชั่นแนล เบอร์ฮาด หรือ ปิโตรนาส เพื่อรับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจพีเอ็ม 407 และพีเอ็ม 415 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณนอกชายฝั่งเพนนินซูลาร์ มาเลเซีย จากการชนะการเปิดประมูลสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในปี 2561 ของประเทศมาเลเซีย

ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตดังกล่าว พีทีทีอีพี เอชเคโอ จะเป็นผู้ดำเนินการในทั้งสองแปลง โดยมีสัดส่วนการลงทุน 55% ในแปลงพีเอ็ม 407 และ 70% ในแปลงพีเอ็ม 415 ในขณะที่ ปิโตรนาส ชาริกาลี ถือสัดส่วนการลงทุนที่เหลือในทั้งสองแปลง ทั้งนี้ บริษัทวางแผนดำเนินการสำรวจคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ และเจาะหลุมสำรวจ 2 หลุมในแปลงพีเอ็ม 407 และเจาะหลุมสำรวจ 2 หลุมในแปลงพีเอ็ม 415

“มาเลเซีย” ฐานลงทุนสำคัญหนุน ปตท.สผ. เติบโตระยะยาว

ทั้งนี้ การเข้าซื้อกิจการเมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น และการชนะประมูลอีก 2 แปลง รวมทั้งแปลงสำรวจต่างๆ ที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้วนั้น ส่งผลให้มาเลเซียจะเป็นฐานการลงทุนใหญ่ที่สำคัญของ ปตท.สผ. นอกเหนือจากการลงทุนในประเทศไทยและเมียนมา รวมทั้งทำให้ ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายใหญ่อันดับ 3 ของมาเลเซียในด้านของการถือครองปริมาณทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งครอบคลุมการสำรวจและการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในบริเวณที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูงทั้งในบริเวณนอกชายฝั่งเพนนินซูลาร์ มาเลเซีย และนอกชายฝั่งรัฐซาราวักและรัฐซาบาห์

“โอกาสลงทุนเพิ่มเติมในมาเลเซีย จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตให้กับ ปตท.สผ. ตามแผนกลยุทธ์ในระยะยาว “Coming Home” ซึ่งมุ่งเน้นการขยายการลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูงในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังจะได้เสริมความร่วมมือกับปิโตรนาสซึ่งเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน พร้อมใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่มีในอ่าวไทย รวมถึงประสานประโยชน์ในกิจกรรมการสำรวจและผลิตในโครงการต่างๆ ของ ปตท.สผ. ในประเทศมาเลเซียร่วมกัน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทั้งสองประเทศ” นายพงศธร กล่าว

ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีการลงทุนหลายโครงการในมาเลเซีย ได้แก่ โครงการซาราวักเอสเค 410 บี ซึ่งอยู่ระหว่างการประมวลข้อมูลด้านธรณีวิทยาและการประเมินศักยภาพทางปิโตรเลียม เพื่อเตรียมวางแผนการเจาะหลุมสำรวจ, โครงการซาราวักเอสเค 417 ที่กำลังศึกษาด้านธรณีวิทยาและศักยภาพปิโตรเลียม และโครงการซาราวักเอสเค 438 อยู่ระหว่างเตรียมแผนการเจาะหลุมสำรวจ นอกจากนี้ ยังมีการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย รวมทั้งการลงทุนในบริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในโครงการ MLNG Train 9 ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปก๊าซธรรมชาติเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว อีกด้วย

Advertisment