ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ล่าสุดลดลง จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่กดดันอุปสงค์น้ำมัน อาทิ วิกฤตภาคธนาคารของสหรัฐฯ ที่ S&P Global ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) ของธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯ อาทิ Associated Banc Corp, Valley National Bancorp,และ Key Corp นอกจากนี้ ยังปรับลดมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ของธนาคาร S&T และ River City จากมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงลบ (Negative) ขณะที่ Composite PMI ของสหรัฐฯ และยูโรโซน (20 ประเทศ) ในเดือน ส.ค. 66 ลดลง ส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว
อุปทานน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย รมว. กระทรวงน้ำมันของอิหร่าน นาย Javad Owji กล่าวว่า อิหร่านมีแผนเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากปัจจุบันที่ 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ย. 66 อนึ่ง ในเดือน ส.ค. 66 อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบไปจีน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2556 อย่างไรก็ดี ซาอุดีอาระเบียยังพยายามที่จะพยุงตลาดน้ำมัน โดย Reuters คาดการณ์ว่าซาอุดีอาระเบียมีแนวโน้มขยายระยะเวลาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงเดือน ต.ค. 66 จากเดิมช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. 66 เพื่อลดปริมาณสำรองน้ำมันดิบทั่วโลก
วันที่ 25 ส.ค. 66 ที่ประชุม Jackson Hole Economic Policy Symposium 2023 ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell แถลงการณ์ว่า Fed อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีก (ปัจจุบันอยู่ที่ 5.25%-5.50%) เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ (เป้าหมายอยู่ที่ 2% และในเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ 3.2%) และเฝ้าติดตามเศรษฐกิจและตลาดแรงงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างรอบคอบ ทั้งนี้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) จะมีขึ้นในวันที่ 19-20 ก.ย. 66
คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 80-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล