ปตท. มั่นใจธุรกิจครึ่งหลังปี 2567 เติบโตตามฤดูท่องเที่ยวปลายปีและโครงการดิจิตัลวอลเล็ต ช่วยหนุนยอดขายเพิ่ม

358
- Advertisment-
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คาดผลดำเนินงานครึ่งหลังปี 2567 โตต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกเทศกาลท่องเที่ยวปลายปีและเข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศ รวมถึงโครงการดิจิตัลวอลเล็ต ช่วยหนุนยอดขายเพิ่ม คาดราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2567 อยู่ที่ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

นายธนพล ประภาพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยในงาน Oppday Q2/2024 PTT วันที่ 23 ส.ค.2567 ว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ ปตท. ในไตรมาส 3 และครึ่งหลังปี 2567 ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยขับเคลื่อนจากราคาพลังงานและปริมาณการจำหน่าย ซึ่งหากดูจากธุรกิจสำรวจและผลิต ( E&P) ปริมาณการจำหน่ายครึ่งหลังปี 2567 คาดว่าจะดีขึ้นจากการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ ของแหล่งเอราวัณ(G1/61) ขณะที่ ราคา spot LNG ครึ่งหลังปี 2567 จะปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ ปรับเพิ่มขึ้นได้

ขณะที่ธุรกิจน้ำมันในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ซึ่งจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย จะเป็นส่วนสนับสนุนยอดขายในครึ่งหลังปี 2567 ให้เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก

โดยทิศทางเศรษฐกิจตามคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) โลก จะอยู่ที่ 3.2% และ GDP ไทย อยู่ที่ 2.9% ตามการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2567 นี้จะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะช่วยให้ภาคการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้อง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจะเพิ่มขึ้นจากงบประมาณประจำปี 2567 และการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจากโครงการดิจิตัลวอลเล็ต อย่างไรก็ดีการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว และการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองจะเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจ

- Advertisment -

ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติคาดว่า ปี 2567 นี้ จะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยราคา Spot LNG JKM ลดลง 7% จะส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตก๊าซฯ ซึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ราคาก๊าซฯ ลดลง มาจากความต้องการใช้ในยุโรปที่ปรับลดลง ตามการขยายเวลามาตรการลดการใช้ก๊าซฯ ลง 15% ไปสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2568 รวมถึงปริมาณสำรองก๊าซฯ ในยุโรปและเอเชียอยู่ในระดับสูง โดยความต้องการใช้ในเอเชียที่เพิ่มขึ้นเกิดจากความต้องการใช้ก๊าซฯ ในฤดูร้อน อย่างไรก็ตามจากสภาพอากาศที่กำลังจะเปลี่ยนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ(ร้อนจัด)ไปสู่ลานีญา(หนาวจัด) ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้ LNG เพิ่มสูงขึ้น

ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1% มาอยู่ที่ระดับ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยหลักมาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ พายุเฮอริเคน รวมถึงซัพพลายที่ยังตึงตัวจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส ในส่วนของราคาน้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 6% มาอยู่ที่ 71-81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบดูไบ ขณะที่ค่าการกลั่น (GRM) ลดลง 24% มาอยู่ที่ 4.7-5.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยมาจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ (สเปรด) ที่ปรับลดลงระหว่างแก๊สโซลีนกับแก๊สออยล์จากซัพพลายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีช่วงไตรมาส 3 จะเป็นช่วงฤดูกาลขับขี่รถยนต์ของสหรัฐ (US driving season) และไตรมาส 4 ที่เข้าสู่ฤดูหนาว คาดว่า สเปรดจะปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ปิโตรเคมี คาดว่าราคาจะทรงตัวจากปีก่อน

ส่วนกรณีการลดสัดส่วนการลงทุนใน IRPC ,TOP และ PTTGC นั้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่ง ปตท.จะมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อหาวิธีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ กลุ่มธุรกิจ Hydrocarbon ของ ปตท. โดย ปตท. ยังคงนโยบายถือหุ้นในบริษัท flagship ต่างๆในสัดส่วนที่ ปตท.ควบคุมได้ เพื่อสามารถกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่ม ปตท.ต่อไป

Advertisment