ปตท.ตอบโจทย์นโยบาย “สนธิรัตน์” ลดปริมาณซื้อก๊าซจากอ่าวไทยและเร่งนำเข้าLNG แบบ spot ช่วงที่มีราคาต่ำ ล็อตแรก 4 คาร์โก้ รวม 2.4แสนตัน ช่วยลดค่าไฟฟ้า เผยหากความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 อาจจะนำเข้า LNG แบบ spot ได้ถึง 1 ล้านตัน โดยไม่กระทบต่อสัญญาเดิมที่มีกับคู่ค้า
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้เริ่มดำเนินการตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ให้เร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากตลาดจร (Spot)ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าและ LNG มีราคาต่ำ ซึ่งได้เริ่มทยอยนำเข้ามาแล้ว
ทั้งนี้การนำเข้าLNGแบบ spot ของปตท.จะเข้ามาทดแทนก๊าซจากอ่าวไทย ที่ปตท.ได้สั่งลดปริมาณจากผู้ผลิตลง โดยปริมาณที่นำเข้ามาตามแผนจะไม่กระทบต่อสัญญาเดิมที่ ปตท.ได้ตกลงไว้กับคู่สัญญา และ เป็นการช่วยให้ค่าไฟฟ้าในภาพรวมลดลง
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า การนำเข้า LNG แบบspot ของปตท. จะเป็นส่วนที่เพิ่มมาจาก LNG ที่เป็นสัญญาระยะยาว ที่ทำไว้ในปริมาณ 5.2 ล้านต้น โดยในล็อตแรกจะมีการนำเข้ามา จำนวน 4 คาร์โก้ คาร์โก้ละ 6 หมื่นตัน รวมปริมาณ 2.4 แสนตัน ในราคาเฉลี่ยประมาณ 3 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู โดยคาร์โก้แรกมีการส่งมอบไปแล้ว ส่วนคาร์โก้ ที่ 2-4 จะส่งมอบในเดือน พ.ค,มิ.ย.และก.ค.2563
ทั้งนี้หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงได้เร็วและความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศกลับมาเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3 และ 4 และLNG แบบ spot ยังคงมีราคาต่ำ กระทรวงพลังงานอาจจะไฟเขียวให้ ปตท.นำเข้าLNG แบบspot ได้เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านตันหรือประมาณ 15 คาร์โก้ ในปี 2563 นี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าเอฟที งวด ก.ย-ธ.ค.2563 ลดลงได้มาก เนื่องจากราคาก๊าซในอ่าวไทย ที่สะท้อนต้นทุนย้อนหลังราคาน้ำมัน 6-12 เดือน และราคาLNG แบบสัญญาระยะยาว ที่สะท้อนต้นทุนย้อนหลังราคาน้ำมัน ประมาณ 5 เดือน จะมีราคาที่ลดลง ตามราคาน้ำมัน โดยก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60%