ปตท.เร่งพิจารณาขยายเวลาชำระหนี้ค่าก๊าซฯ ให้ กฟผ.บรรเทาปัญหาสภาพคล่อง

322
- Advertisment-

ปตท. เร่งหารือขยายเวลาชำระค่าก๊าซฯ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หวังช่วยบรรเทาผลกระทบสภาพคล่องจากการแบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้าตามนโยบายรัฐ ระบุราคา LNG โลกถูกลงเหลือ 20 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู  เตรียมถกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นำเข้ากักเก็บไว้ใช้กับโรงไฟฟ้าตามนโยบายกระทรวงพลังงาน คาดรู้ผลชัดเจน มิ.ย.-ก.ค. 2565 ก่อนราคา LNG พุ่งอีกรอบหน้าหนาว  ประเมินปี 2565 ไทยต้องนำเข้า LNG แตะ 10 ล้านตัน หลังความต้องการใช้พุ่งไม่หยุด

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า จากกรณีที่ภาครัฐมอบหมายให้ ปตท.พิจารณาขยายระยะเวลาชำระเงินค่าเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อบรรเทาภาระรายจ่ายให้กับ กฟผ.ในการแบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชนไปก่อนนั้น ทาง ปตท.อยู่ระหว่างหารือกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งรายจ่ายของ กฟผ.ในช่วงปี 2564  พบว่า เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่ปี 2565 นี้ มูลค่าเพิ่มขึ้นตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น คาดว่า จะอยู่ที่ 12,000-13,000 ล้านบาทต่อเดือน

สำหรับสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG) ตลาดโลกปัจจุบันปรับตัวลดลง อยู่ที่ประมาณ  20 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู จากช่วงเดือน มี.ค. 2565 ที่ราคาปรับขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 84-85 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู

- Advertisment -

ดังนั้น ปตท.อยู่ระหว่างหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อ LNG ช่วงราคาตลาดโลกอ่อนตัวลงมากักเก็บไว้ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยคาดว่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนออกมาในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2565 นี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศที่จะผลักดันให้ความต้องการใช้ LNG เพิ่มขึ้นและกดดันให้ราคา LNG ปรับสูงขึ้นอีกครั้ง

ดังนั้นหากเทียบกับการใช้น้ำมันเพื่อเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ราคาLNG ในระดับดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศมากกว่าและช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ ดังนั้นคาดว่าความต้องการใช้ LNG เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจะยังเพิ่มขึ้น

สำหรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในปี 2565 นี้ คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2564  หลังช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 นี้ พบว่า ความต้องการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยอยู่ที่  4,420 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือ เติบโตเพิ่มขึ้น 5-6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี2564 โดยความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น มาจากภาคการผลิตไฟฟ้า ที่มีความต้องการใช้ก๊าซฯ ป้อนเป็นเชื้อเพลิง อยู่ที่ 2,650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็เริ่มกลับมาเดินเครื่องการผลิตมากขึ้นตามทิศทางการเปิดประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 คาดว่า ความต้องการใช้ก๊าซฯ จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1 เนื่องจากสถานการณ์ราคา  LNG ตลาดโลกปรับลดลง

อย่างไรก็ตามคาดว่า ทั้งปี 2565 นี้ ประเทศไทยจะมีความต้องการนำเข้า LNG รวมอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านตัน ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นสัญญา LNG ระยะยาวของ ปตท. ประมาณ 5 ล้านตัน และอีก 5 ล้านตัน จะเป็น Spot LNG (LNG ตามราคาตลาดจร) ที่นำเข้าโดยผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ซึ่งในส่วนของ Shipper ที่ปัจจุบันได้รับสิทธิ์ให้ดำเนินการนำเข้าจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) มี 2 รายหลักๆ คือ ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยปี 2565 นี้ พบว่า มีการนำเข้า LNG แล้ว ประมาณ  6 ลำเรือ แบ่งเป็น ปตท. นำเข้าประมาณ 3-4 ลำ และ กฟผ.นำเข้า ประมาณ 2-3 ลำ ซึ่ง กฟผ.ได้เริ่มการนำเข้าในปี 2565 นี้ ตั้งแต่เดือน เม.ย. 1-2 ลำ และนำเข้าเดือน พ.ค. 2565 นี้ ประมาณ 1-2 ลำ ขณะที่ช่วงต้นปีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าโดย ปตท.

อย่างไรก็ตาม ปตท.คาดว่า สัดส่วนการใช้ก๊าซฯ ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ควรเป็นการจัดหาภายใต้สัญญาระยะยาว 70% และสัญญาระยะสั้น 30% หลังจากก่อนหน้านี้ ในช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้สัดส่วนการใช้ก๊าซฯ ทั้งสัญญาระยะยาวและระยะสั้นลดลงมาใกล้เคียงกัน อยู่ที่ 50:50

นายวุฒิกร กล่าวอีกว่า แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติ จะยังเป็นขาขึ้นไปอีก 2-3 ปี ตามผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลต่อการส่งออกและความต้องการใช้ก๊าซฯ อย่างไรก็ตาม ปตท. ได้เตรียมความพร้อมรองรับการนำเข้า LNG เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยในส่วนของโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 ในจังหวัดระยอง (T-2) ระยะแรก จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในช่วงปลายเดือน มิ.ย.หรือ ต้นเดือน ก.ค. 2565 นี้ ซึ่งจะรองรับการนำเข้า LNG ได้ 2.5 ล้านตัน และสิ้นปี 2565 จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมรองรับนำเข้า LNG ได้ถึง 7.5 ล้านตัน ทำให้รวมกับ Terminal แห่งที่ 1 ประเทศไทยจะมีศักยภาพรองรับ LNG ได้ถึง 19 ล้านตันต่อปี ส่วนการจองสิทธิ์เพื่อใช้บริการ Terminalแห่งที่ 2 นั้น จะต้องสอดรับกับการพิจารณาของ กกพ.ด้วย เพราะการนำเข้า LNG ของ Shipper แต่ละราย จะต้องผ่านการอนุมัติจาก กกพ.ก่อน 

Advertisment