ปตท. จับมือ กฟผ. ตั้งทีมศึกษารายละเอียดการร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นก๊าซ ที่ภาคใต้ (LNG Receiving Terminal)รองรับโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ คาดสรุปรายละเอียดโครงการเพื่อเสนอรัฐอนุมัติได้ภายในปี 2564-2565 นี้
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ LNG Receiving Terminal)ในพื้นที่ภาคใต้ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) โดยอยู่ระหว่างดำเนินการในกระบวนการทางเทคนิค และพื้นที่จัดตั้ง Terminal ที่เหมาะสม ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้จัดตั้งทีมงานดำเนินการในรายละเอียดต่างๆร่วมกันแล้ว
โดยเบื้องต้นในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีชุดที่ 1 และ 2 กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ นั้น กฟผ.จะเป็นผู้ดำเนินการลงทุน ในขณะที่ ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนโครงข่ายท่อส่งก๊าซฯ ส่วน Terminal ยังต้องศึกษาร่วมกันและอยู่ระหว่างหาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสม
ในส่วนปริมาณ LNG ที่จะส่งป้อนเป็นเชื้อเพลิงนั้น คาดว่า จะต้องใช้อยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านตันต่อปี
อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะต้องนำเสนอรัฐพิจารณาก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดยตามแผน PDP กำหนดให้คลังก๊าซฯต้องเกิดขึ้นในปี 2568-2569 ซึ่งอาจต้องขออนุมัติระหว่างปี 2564-2565นี้ แต่ทั้งนี้ต้องขอหารือกับ กฟผ. ก่อนว่าจะเสนอโครงการได้เมื่อไหร่ เพราะ ปตท.ไม่สามารถตัดสินใจฝ่ายเดียวได้
ในขณะที่ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี มีกำหนดจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ชุดที่ 1 กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ในปี2570 และชุดที่ 2 อีก 700 เมกะวัตต์ในปี 2572
นายวุฒิกร กล่าวด้วยว่า ในส่วนที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 มีมติอนุมัติให้ กฟผ. ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการคลังรับจ่ายก๊าซ LNG ลอยน้ำ (FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) โดยให้เปลี่ยนไปร่วมลงทุน กับ ปตท.ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ต.หนองแฟบ จ. ระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี โดยให้ถือหุ้นฝ่ายละ 50% นั้น อยู่ระหว่างรอให้ กฟผ.เข้ามาศึกษารายละเอียดต่างๆในโครงการ ซึ่งโครงการนี้ มีมูลค่าการลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นคงต้องพิจารณาร่วมกันว่าจะลงทุนรูปแบบใด โดยหลักการทั่วไป ก็มี 2 วิธี คือพิจารณาจากเงินลงทุนที่ลงทุนไปแล้ว กับ ประเมินจากมูลค่าโครงการในปัจจุบัน ดังนั้นต้องหารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไป