บี.กริม เพาเวอร์ เข้าซื้อหุ้นบริษัท LT09 S.r.l. ในอิตาลี ขยายพอร์ตพลังงานทดแทน

220
- Advertisment-

บี.กริม เพาเวอร์ เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท LT09 S.r.l. ในอิตาลี เดินหน้าขยายพอร์ตพลังงานทดแทนตามยุทธศาสตร์ “GreenLeap” ก้าวสู่เป้าหมาย Net-Zero และการเป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท RES Company Sicilia S.r.l. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 100% ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท LT09 S.r.l. มูลค่าหุ้นรวมทั้งสิ้น 10,000 ยูโร โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายพอร์ตการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ณ สาธารณรัฐอิตาลี 

บริษัท LT09 S.r.l. เป็นผู้ประกอบธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสาธารณรัฐอิตาลี และมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินและใช้ระบบหมุนตามดวงอาทิตย์ (tracking system) ที่อยู่ระหว่างพัฒนาชื่อ “Ortanova 2” มีกำลังการผลิต 73.26 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งเมื่อรวมโครงการดังกล่าวแล้ว ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรวม 350-400 เมกะวัตต์ และ Battery Storage รวม 180-200 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างพัฒนาในสาธารณรัฐอิตาลี 

- Advertisment -

สำหรับการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทดแทนในครั้งนี้ เป็นไปตามเป้าหมายของ บี.กริม เพาเวอร์ เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำระดับโลก และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ GreenLeap-Global and Green ที่มุ่งยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจระดับโลกกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ตามวิสัยทัศน์องค์กร “สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี (Empowering the World Compassionately) 

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า ทิศทางนับจากนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ยังเดินหน้าหาโอกาสพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นในสาธารณรัฐอิตาลี และในภูมิภาคยุโรป เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานทดแทนที่มีการต่อยอดและขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยความมั่นคง โดยปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาโครงการในหลายแห่ง อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา กรีซ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งประเทศไทย 

ส่วนทิศทางและเป้าหมายของ บี.กริม เพาเวอร์ ในระยะยาว ก็คือ ภายในปี 2573 ตั้งเป้าขยายการลงทุนสู่กำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ จากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนา โดยมากกว่า 50% เป็นสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Carbon Emissions ภายในปี 2593 หรือ คศ. 2050

Advertisment