บอร์ดกฟผ.นัดถก28ต.ค.นี้ ปรับโครงสร้างกฟผ.ให้มีความคล่องตัวรองรับธุรกิจในอนาคต

3402
- Advertisment-

บอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.) ประชุม 28 ต.ค. 2562 นี้เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร  ให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น โดยเร่งจัดตั้งบริษัทใหม่รองรับธุรกิจเทรดดิ้งไฟฟ้าต่างประเทศ  พร้อมพิจารณาทบทวนแผนความร่วมมือกับ ปตท.ให้ชัดเจนขึ้น ในขณะที่การเร่งรัดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีแห่งใหม่ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตามนโยบายรัฐมนตรีพลังงานจะเร็วขึ้นได้อีก 2ปี

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 ต.ค. 2562 บอร์ด กฟผ. จะพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้ กฟผ. สามารถดำเนินงานได้คล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้งบริษัทใหม่ เพื่อรองรับธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า(เทรดดิ้ง)กับต่างประเทศ ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอแก้พ.ร.บ.กฟผ.

สำหรับธุรกิจเทรดดิ้งก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)นั้น จำเป็นต้องรอการแก้ไขกฎหมาย กฟผ. เนื่องจากปัจจุบันกำหนดให้ กฟผ. ใช้ LNG ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.เท่านั้น ปัจจุบันยังต้องรอผลการประมูล LNGของ กฟผ. ในรูปแบบตลาดจร (Spot) ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อ 21 ต.ค. 2562ที่ผ่านมา ที่มีมติให้ กฟผ. จัดหา LNG ปริมาณนำเข้า 2 ลำเรือ ลำเรือละ 6.5 หมื่นตัน ลำแรกนำเข้าเดือน ธ.ค.2562 นี้ และลำที่ 2 เดือนเม.ย. 2563 โดยให้มีการทดสอบระบบการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ (TPA) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค. 2562 นี้

- Advertisment -

นอกจากนี้ในช่วงปลายปี 2562 นี้ ราคาLNG ยังไม่แพง แต่จะปรับสูงขึ้นในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.2563 เนื่องจากเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวของยุโรป ทำให้ความต้องการใช้ LNG เพิ่มขึ้น ซึ่งการเปิดประมูลคาดว่าจะได้ราคา LNG ในระดับที่ดี ส่วนกรณีการเจรจาหาข้อยุติในการนำเข้า LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ที่ กฟผ.เปิดประมูล และบริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี จำกัด ได้รับการคัดเลือก เรื่องนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ยังไม่มีข้อสรุป ต้องพิจารณาถึงกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย กฟผ.เป็นผู้รับนโยบายมาปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

สำหรับกรณีการลงนามระหว่าง กฟผ.กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT  เพื่อร่วมมือในการทำงานร่วมกันในอนาคตนั้น ทาง กฟผ.จะกลับมาพิจารณาเพื่อทบทวนแผนอีกครั้งว่าจะสามารถดำเนินการร่วมกันเรื่องใดได้บ้าง

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เร่งรัดให้ กฟผ. ปรับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 โรง รวมกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์  ให้สร้างได้เร็วขึ้น 2-3 ปี จากเดิมสร้างเสร็จปี 2570 และ 2571 ก็ปรับให้สร้างเสร็จในปี 2568 และ 2569 คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท  ทั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ได้เสนอให้เร่งรัดการก่อสร้าง หลังจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ถูกชะลอไปโดยไม่มีกำหนด ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ไม่พอเพียงต่อความต้องการใช้ แม้จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตกเพิ่มเติมแล้วส่งไฟฟ้าไปภาคใต้ก็ตาม  โดย กฟผ.ก็ต้องมาเร่งปรับแผน ซึ่งจะต้องดูว่าจะใช้ก๊าซฯจากที่ใด จะนำเข้า LNG  มารองรับความต้องการได้อย่างไร รวมทั้งการก่อสร้างท่อก๊าซฯที่ส่งไปยังโรงไฟฟ้าจะเร่งดำเนินการอย่างไรต่อไปด้วย

Advertisment