กฟผ.เสนอปรับลดค่าไฟฟ้างวด​ก.ย.-ธ.ค.2566​ เหลือ​ 4.45 บาทต่อหน่วย​ โดย กกพ. เปิดรับฟังความเห็น​ 3 ทางเลือก ถึง​ ​21​ ก.ค.​นี้

1885
- Advertisment-

บอร์ด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติคำนวณค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 แบ่งเป็น 3 กรณี ที่บวกรวมการชำระหนี้ค่าไฟฟ้าให้ กฟผ.ที่แบกรับแทนประชาชนอยู่ 135,297 ล้านบาท หากชำระหนี้คืนทั้งหมดค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 6.28 บาทต่อหน่วย หรือตรึงค่าไฟฟ้าไว้เท่าเดิมที่ 4.70 บาทต่อหน่วย หรือคืนหนี้ 5 งวด ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย ตามข้อเสนอ​ของ​ กฟผ.​ ซึ่งทาง สำนักงาน กกพ.จะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนทั้ง 3 กรณี ระหว่างวันที่ 7-21 ก.ค. 2566 ก่อนเสนอบอร์ด กกพ. เพื่อประกาศค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. 2566 อย่างเป็นทางการต่อไป  

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2566 มีมติเห็นชอบผลการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ก.ย. -ธ.ค. 2566 ออกเป็น 3 กรณี พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำแนวทางการคำนวณค่า Ft และการจ่ายคืนหนี้ค่าไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาเปิดรับฟังความเห็นประชาชนระหว่างวันที่ 7-21 ก.ค. 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th  

สำหรับการคำนวณค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ค่า Ft แท้จริงอยู่ที่ 28.58 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าจริงอยู่ที่ 4.07 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตามยังมีหนี้ค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.แบกรับแทนประชาชนตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบันอยู่ที่ 135,297 ล้านบาท ที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องทยอยจ่ายคืนในรูปของค่า Ft ดังนั้น บอร์ด กกพ. จึงได้จัดทำแนวทางการคำนวณค่า Ft และการชำระหนี้คืน กฟผ. แบ่งเป็น 3 กรณี เพื่อเปิดรับฟังความเห็นประชาชน จากนั้น บอร์ด กกพ. จะนำมาสรุปผลเพื่อเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งต่อไป โดยทั้ง 3 กรณีจะแบ่งเป็นดังนี้

- Advertisment -

กรณีที่ 1 จ่ายคืนหนี้ กฟผ. ทั้งหมด จะทำให้ค่า Ft อยู่ที่  249.81 สตางค์ต่อหน่วย (2.50 บาทต่อหน่วย) รวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.28 บาทต่อหน่วย โดยค่า Ft 2.50 บาทต่อหน่วย เกิดจากค่า Ft ที่แท้จริงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และการชำระหนี้ กฟผ.ทั้งหมด ที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 – เม.ย. 2566 คิดเป็นเงินจำนวน 135,297 ล้านบาท  

กรณีที่ 2 ตรึงค่า Ft เท่างวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 66 โดย ค่า Ft จะอยู่ที่ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงเดิมที่ 4.70 บาทต่อหน่วย โดยค่า Ft 91.19 สตางค์ต่อหน่วยเกิดจากค่า Ft ที่แท้จริงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และการทยอยชำระหนี้ กฟผ. จำนวน 38,291 ล้านบาท (ประมาณ 3 งวด) เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2666 ประชาชนยังเหลือหนี้ที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 97,006 ล้านบาท  

กรณีที่ 3 ซึ่งเป็นกรณีที่ กฟผ.เสนอจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด ซึ่งจะทำให้ค่า Ft อยู่ที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย จะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมปรับลดลงจากงวด พ.ค.-ส.ค. 2566 มาอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย โดยค่า Ft 66.89 สตางค์ดังกล่าวเกิดจากค่า Ft ที่แท้จริงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 จำนวน 28.58 สตางค์ต่อหน่วย และการทยอยชำระหนี้ของ กฟผ. ที่แบ่งเป็น 5 งวดๆ ละ 23,428 ล้านบาท โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2666 ประชาชนยังเหลือหนี้ที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 111,869 ล้านบาท

นายคมกฤช กล่าวว่า สำหรับผลการคำนวณประมาณการค่า Ft และแนวทางการจ่ายคืนภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้นเป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงโดย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ กฟผ. นำประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้นำมาจัดทำสรุปสมมุติฐานที่ใช้การประมาณการค่า Ft ในรอบคำนวณเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 เทียบกับการคำนวณในปีฐาน พ.ค. – ส.ค. 2558 และรอบประมาณการค่า Ft เดือน พ.ค. – ส.ค. 2566  

โดยราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) ที่ลดลงในรอบเดือน พ.ค.- ส.ค. 66 ส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการประมาณการค่า Ft  ในงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 ถึงแม้ว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นแต่จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของแหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ประกอบกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณก๊าซที่ส่งให้ภาคไฟฟ้ามีจำนวนจำกัด  นอกจากนี้การเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมทั้งการเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวของยุโรปส่งผลให้ความต้องการใช้ LNG เพิ่มมากขึ้นและอาจส่งผลต่อราคา LNG ในตลาดเอเชีย

ดังนั้นสำนักงาน กกพ. ร่วมกับ ปตท. กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามสถานการณ์การผลิตและใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานในราคาที่เหมาะสม  ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที (Ft) สำหรับการเรียกเก็บในรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 7 – 21 ก.ค. 2566 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

Advertisment